
อนิจฺจา อทฺธุวา กามา……พหุทุกฺขา มหาวิสา
อโยคุโฬว สนฺตตฺโต…….อฆมูลา ทุกฺขปฺผลา.
[คำอ่าน]
อะ-นิด-จา, อัด-ทุ-วา, กา-มา….พะ-หุ-ทุก-ขา, มะ-หา-วิ-สา
อะ-โย-คุ-โล-วะ, สัน-ตัด-โต…..อะ-ฆะ-มู-ลา, ทุก-ขับ-ผะ-ลา
[คำแปล]
“กามทั้งหลาย ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีทุกข์มาก มีพิษมาก ดังก้อนเหล็กที่ร้อนจัด เป็นต้นเค้าแห่งความคับแค้น มีทุกข์เป็นผล.”
(สุเมธาเถรี) ขุ.เถรี. 26/503.
กาม แปลว่า ความใคร่ ความอยาก ความปรารถนา สิ่งที่น่าใคร่ สิ่งที่น่าปรารถนา มี 2 ประเภท คือ
1. กิเลสกาม
2. วัตถุกาม
กิเลสกาม แปลว่า กิเลสเป็นเหตุใคร่ หมายถึง กิเลสที่ทำให้เกิดความใคร่หรือความอยาก เช่น ตัณหา ที่ทำให้เกิดความอยากมี อยากเป็น อยากหลุดพ้นจากสภาวะบางอย่าง โลภะ ที่ทำให้เกิดความอยากได้ รติ ที่ทำให้เกิดความยินดี ราคะ ที่ทำให้เกิดความกำหนัด เป็นต้น
กิเลสเหล่านี้ เมื่อเกิดมีในสันดานหรือครอบงำจิตใจผู้ใดแล้ว ย่อมทำให้เกิดความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ยินดียินร้าย เป็นต้น อาการเหล่านี้เป็นอาการของกิเลสกาม
วัตถุกาม แปลว่า วัตถุอันน่าใคร่ หมายถึง วัตถุที่เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดกิเลสกาม คือทำให้กิเลสกามมันฟูขึ้น กำเริบขึ้น ซึ่งก็ได้แก่ กามคุณ 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
กิเลสกามและวัตถุกามทั้ง 2 อย่างนี้ มีความเกี่ยวเนื่องกัน โดยวัตถุกามจะเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดกิเลสกามขึ้นมา คือวัตถุกามเป็นสิ่งที่ยั่วยุให้กิเลสกามแสดงตัว ถ้าวัตถุกามไม่ปรากฏ กิเลสกามก็ไม่ปรากฏ
ตัวอย่างเช่น ผู้ชายเห็นผู้หญิงที่มีรูปร่างหน้าตาสวยสดงดงามก็เกิดความชอบความพอใจขึ้นมา หรือผู้หญิงเห็นผู้ชายที่มีหน้าตาหล่อเหลาแล้วเกิดความชอบความพอใจขึ้นมา ได้ยินเสียงเพลงที่ไพเราะแล้วก็พอใจ ได้กินอาหารที่มีรสชาติเอร็ดอร่อยแล้วพอใจ เป็นต้น
กามทั้ง 2 อย่างนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน คือตกอยู่ภายใต้อำนาจของกฎพระไตรลักษณ์เช่นเดียวกันกับสภาวะทั้งหลาย มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเหมือนกัน คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้
กามเป็นสิ่งที่มีทุกข์มาก มีพิษมาก คือ สามารถสร้างทุกข์สร้างโทษให้สรรพสัตว์ทั้งหลายอย่างมหาศาล สัตว์โลกทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารอันเต็มไปด้วยทุกข์อยู่ทุกวันนี้ก็เพราะกามนี่เอง
กามเป็นดังก้อนเหล็กที่ร้อนจัด คือกามทั้งสองอย่างนั้น ทำให้จิตใจของสรรพสัตว์ร้อนรุ่มกระวนกระวาย เมื่อเกิดความใคร่ขึ้นมาแล้ว สรรพสัตว์ต่างต้องเดือดร้อนดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งทั้งหลายที่ตนต้องการ เมื่อแสวงหาอยู่ก็เป็นทุกข์ หากไม่ได้มาสมปรารถนาก็ยิ่งทุกข์หนักขึ้นไปอีก หรือแม้แต่ได้มาแล้วหากต้องเสียไปก็เป็นทุกข์อีก
กามเป็นต้นเค้าแห่งความคับแค้น มีทุกข์เป็นผล คือ กาม สามารถเป็นสาเหตุก่อให้เกิดความคับแค้นได้ด้วย ตัวอย่างเช่น เมื่อถูกแย่งชิงของรักไป เมื่อถูกแย่งชิงคนรักไป ย่อมจะเกิดความคับแค้น อันเป็นสาเหตุให้กระทำกรรมอันเลวร้ายตามมา และสุดท้ายจะมีผลเป็นทุกข์ คือก่อความเดือดร้อนให้แก่บุคคลนั้น ๆ เอง.
สารบัญ พุทธศาสนสุภาษิต
- อัตตวรรค หมวดตน
- อัปปมาทวรรค หมวดความไม่ประมาท
- กัมมวรรค หมวดกรรม
- กิเลสวรรค หมวดกิเลส
- โกธวรรค หมวดความโกรธ
- ขันติวรรค หมวดความอดทน
- จิตตวรรค หมวดจิต
- ชยวรรค หมวดความชนะ
- ทานวรรค หมวดทาน
- ทุกขวรรค หมวดทุกข์
- ธัมมวรรค หมวดธรรม
- ปกิณกวรรค หมวดเบ็ดเตล็ด
- ปัญญาวรรค หมวดปัญญา
- ปมาทวรรค หมวดความประมาท
- ปาปวรรค หมวดบาป
- ปุคคลวรรค หมวดบุคคล
- ปุญญวรรค หมวดบุญ
- มัจจุวรรค หมวดความตาย
- มิตตวรรค หมวดมิตร
- ยาจนาวรรค หมวดการขอ
- ราชวรรค หมวดพระราชา
- วาจาวรรค หมวดวาจา
- วิริยวรรค หมวดความเพียร
- เวรวรรค หมวดเวร
- สัจจวรรค หมวดความสัตย์
- สติวรรค หมวดสติ
- สัทธาวรรค หมวดศรัทธา
- สันตุฏฐิวรรค หมวดสันโดษ
- สมณวรรค หมวดสมณะ
- สามัคคีวรรค หมวดสามัคคี
- สีลวรรค หมวดศีล
- สุขวรรค หมวดความสุข
- เสวนาวรรค หมวดการคบหา