โลภะ โทสะ โมหะ เกิดจากตัวเอง ย่อมเบียดเบียนผู้มีใจชั่ว ฯลฯ

โลโภ โทโส จ โมโห จ     ปุริสํ ปาปเจตสํ
หึสนฺติ อตฺตสมฺภูตา     ตจสารํว สมฺผลํ.

[คำอ่าน]

โล-โพ, โท-โส, จะ, โม-โห, จะ……ปุ-ริ-สัง, ปา-ปะ-เจ-ตะ-สัง
หิง-สัน-ติ, อัด-ตะ-สำ-พู-ตา……ตะ-จะ-สา-รัง-วะ, สำ-ผะ-ลัง

[คำแปล]

“โลภะ โทสะ โมหะ เกิดจากตัวเอง ย่อมเบียดเบียนผู้มีใจชั่ว ดุจขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ฉะนั้น.”

(พุทฺธ) ขุ.อิติ. 25/264., ขุ.มหา. 29/18.

โลภะ คือ ความโลภ หมายถึง ความอยากได้ของของคนอื่นมาไว้ในความครอบครองของตนเอง เมื่อเกิดความโลภขึ้นแล้ว จะทำให้ใจกลุ้มรุมกระวนกระวาย อยากได้จนเกินเหตุ จนหาวิธีแสวงหามาครอบครองให้ได้ ไม่ว่าวิธีนั้นจะถูกหรือผิดก็ตาม ทำให้บุคคลก่อกรรมอันเป็นทุจริต เช่น ลักขโมย ฉก ชิง วิ่งราว ฉ้อโกง เป็นต้น เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการ

โทสะ คือ ความโกรธ เป็นกิเลสที่ทำให้ใจเดือดดาล เผาผลาญจิตใจให้ร้อนรุ่มกระวนกระวาย โทสะนี้จะครอบงำจิตใจและบัญชาให้บุคคลกระทำกรรมตามอำนาจของมัน อันเป็นไปในลักษณะประทุษร้าย เช่น การเข่นฆ่าคนอื่น การทำร้ายร่างกาย หรือการด่าทอ ด้วยอารมณ์ที่ขุ่นเคืองโกรธแค้น

โมหะ คือ ความหลง ได้แก่ ความมืดบอด ความไม่รู้จริง คือไม่รู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ ไม่รู้ผิดไม่รู้ถูก มีความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม โมหะนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้ปัญญามืดบอด ไม่เห็นอรรถเห็นธรรม ขาดการพิจารณาด้วยเหตุผล สามารถทำให้บุคคลกระทำกรรมชั่วได้ทุกประเภท

ธรรมชาติของต้นไผ่ ส่วนมากจะออกดอกครั้งเดียว หลังจากออกดอกแล้วก็จะตายทั้งกอในปีเดียวกันนั้น หรืออย่างช้าก็อาจจะอยู่ ได้ราว 1-2 ปี ภายหลังการออกดอกเท่านั้น การตายของต้นไผ่ชาวบ้านเรียกว่า “ตายขุย” แต่พอถึงฤดูฝน ขุย (เมล็ด) ไผ่นี้จะแตกเป็นต้นเล็กๆ ขึ้นมาเจริญเติบโตเป็นกอไผ่ต่อไป

เนื่องจากเมื่อไผ่มีขุยแล้วจะตายยกกอดังกล่าว จึงถือกันว่า “ต้นไผ่ตายเพราะขุย” หรือ “ขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่” นั่นเอง

กิเลสทั้ง 3 ประการ คือ โลภะ โทสะ โมหะ นี้ เกิดจากตัวเอง คือ เกิดขึ้นที่จิตใจของบุคคลแต่ละคน เกาะอยู่ที่จิตใจ ย่อมครอบงำจิตใจของบุคคลนั้น ๆ ให้มืดบอด เห็นผิดเป็นชอบ ชักนำให้บุคคลกระทำกรรมชั่วทั้งหลายตามอำนาจของมัน ก่อให้เกิดความฉิบหายขึ้นแก่บุคคลนั้น ๆ ทำให้บุคคลนั้น ๆ ตายจากคุณงามความดีทั้งหลาย มุ่งหน้าสู่ความฉิบหายอย่างเดียว เหมือนขุยไผ่ที่เกิดจากต้นไผ่แล้วทำให้ต้นไผ่ตายนั่นเอง.