บุคคลถูกลูกศรใดแทงแล้วย่อมแล่นไปทั่วทิศ ถอนลูกศรนั้นแล้ว ฯลฯ

เยน สลฺเลน โอติณฺโณ     ทิสา สพฺพา วิธาวติ
ตเมว สลฺลํ อพฺพุยฺห     น ธาวติ น สีทติ.

[คำอ่าน]

เย-นะ, สัน-เล-นะ, โอ-ติน-โน…..ทิ-สา, สับ-พา, วิ-ทา-วะ-ติ
ตะ-เม-วะ, สัน-ลัง, อับ-พุย-หะ…..นะ, ทา-วะ-ติ, นะ, สี-ทะ-ติ

[คำแปล]

“บุคคลถูกลูกศรใดแทงแล้วย่อมแล่นไปทั่วทิศ ถอนลูกศรนั้นแล้ว ย่อมไม่แล่นและไม่จม.”

(พุทฺธ) ขุ.สุ. 25/518., ขุ.มหา. 29/501.

คำว่า ลูกศร ในพุทธศาสนสุภาษิตบทนี้ หมายถึง กิเลส ซึ่งเป็นเจตสิกรรมที่ทำให้จิตเศร้าหมอง คอยทิ่มแทงเผาลนจิตของสรรพสัตว์ให้ร้อนรุ่มกระวนกระวายอยู่ตลอดเวลา ลูกศรคือกิเลสนั้น มีอยู่ 3 ตระกูลด้วยกัน คือ

โลภะ คือ ความโลภ หมายถึง ความอยากได้ของของคนอื่นมาไว้ในความครอบครองของตนเอง เมื่อเกิดความโลภขึ้นแล้ว จะทำให้ใจกลุ้มรุมกระวนกระวาย อยากได้จนเกินเหตุ จนหาวิธีแสวงหามาครอบครองให้ได้ ไม่ว่าวิธีนั้นจะถูกหรือผิดก็ตาม ทำให้บุคคลก่อกรรมอันเป็นทุจริต เช่น ลักขโมย ฉก ชิง วิ่งราว ฉ้อโกง เป็นต้น เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการ

โทสะ คือ ความโกรธ เป็นกิเลสที่ทำให้ใจเดือดดาล เผาผลาญจิตใจให้ร้อนรุ่มกระวนกระวาย โทสะนี้จะครอบงำจิตใจและบัญชาให้บุคคลกระทำกรรมตามอำนาจของมัน อันเป็นไปในลักษณะประทุษร้าย เช่น การเข่นฆ่าคนอื่น การทำร้ายร่างกาย หรือการด่าทอ ด้วยอารมณ์ที่ขุ่นเคืองโกรธแค้น

โมหะ คือ ความหลง ได้แก่ ความมืดบอด ความไม่รู้จริง คือไม่รู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ ไม่รู้ผิดไม่รู้ถูก มีความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม โมหะนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้ปัญญามืดบอด ไม่เห็นอรรถเห็นธรรม ขาดการพิจารณาด้วยเหตุผล สามารถทำให้บุคคลกระทำกรรมชั่วได้ทุกประเภท

กิเลสทั้ง 3 ประการนี้ เปรียบเหมือนลูกศรที่ทิ่มแทงจิตใจสรรพสัตว์ให้ได้รับความทุรนทุรายกระวนกระวายใจ ทำให้วิ่งพล่านไปและจมดิ่งอยู่ในอำนาจของมัน

วิธีเดียวที่จะไม่ต้องวิ่งพล่านและจมอยู่ในอำนาจของมันได้ คือต้องถอนมันออกด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น.