ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ “ในหมู่มนุษย์ ผู้ฝึกตนได้แล้ว เป็นผู้ประเสริฐสุด”

ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ.

[คำอ่าน : ทัน-โต, เสด-โถ, มะ-นุด-เส-สุ]

“ในหมู่มนุษย์ ผู้ฝึกตนได้แล้ว เป็นผู้ประเสริฐสุด”

(ขุ.ธ. 25/57, ขุ.มหา. 29/291, ขุ.จู. 30/74)

ผู้ฝึกตน หมายถึง ผู้ที่ฝึกจิตของตนให้แข็งแกร่ง ทนทานต่อการรุกล้ำของกิเลส ชำระจิตของตนให้สะอาดผุดผ่องจากเครื่องเศร้าหมองคือกิเลส อดทนอดกลั้นต่อการกระทบของกิเลส

คนที่ฝึกตนได้แล้ว ย่อมไม่ตกเป็นทาสของอำนาจกิเลส คือกิเลสไม่สามารถสั่งการให้เขาทำตามอำนาจของตนได้ ผู้ฝึกตนได้แล้ว จะทำ จะพูด จะคิดอะไร ก็จะทำตามธรรม ไม่ทำตามกิเลส

สำหรับแนวทางการฝึกตนนั้น ให้ฝึกตนตามแนวทางแห่งโอวาทปาติโมกข์ คือ

  1. สพฺพปาปสฺส อกรณํ งดเว้นจากการทำบาปทั้งปวง คือเว้นจากทุจริตทั้งหลาย
  2. กุสลสฺสูปสมฺปทา หมั่นสร้างกุศลให้สมบูรณ์ ด้วยการประพฤติสุจริตทั้งปวง
  3. สจิตฺตปริโยทปนํ ปฏิบัติขัดเกลาจิตใจให้ผ่องแผ้วจากกิเลสทั้งหลาย ด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

ในบรรดาหมู่มนุษยชาติ ผู้ที่ฝึกตนได้แล้วนี่แหละเป็นผู้ประเสริฐ ใครยังไม่สามารถฝึกตนได้ ยังไม่ถือว่าประเสริฐ ดังนั้น พึงฝึกตนให้ดี ให้เป็นผู้มีจิตใจเข้มแข็ง ทนต่อการรุกรานของกิเลสเถิด