อนฺธตมํ ตทา โหติ ยํ โกโธ สหเต นรํ

อนฺธตมํ ตทา โหติ ยํ โกโธ สหเต นรํ.

[คำอ่าน : อัน-ทะ-ตะ-มัง, ตะ-ทา, โห-ติ, ยัง, โก-โท, สะ-หะ-เต, นะ-รัง]

“ความโกรธ ครอบงำนรชนเมื่อใด ความมืดมน ย่อมมีเมื่อนั้น”

(องฺ.สตฺตก. 23/99, ขุ.มหา. 29/18)

ความโกรธ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้จิตใจของคนมืดมนอนธการ เมื่อคววามโกรธเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้ปัญญาน้อยลง หรือเป็นตัวบดบังปัญญาไม่ให้ทำงานได้สะดวก

เมื่อความโกรธเกิดขึ้น ปัญญาก็ถดถอย มองไม่เห็นอรรถ ไม่เห็นธรรม ไม่รู้บาปไม่รู้บุญ ไม่รู้คุณไม่รู้โทษ ไม่รู้ประโยชน์หรือมิใช่ประโยชน์ เปรียบเหมือนบุคคลที่เดินเข้าไปในที่มืด ย่อมไม่สามารถมองเห็นสิ่งใดได้ชัดเจน

ความโกรธ จะทำให้บุคคลกล้าที่จะทำความผิดนานาประการ ซึ่งโดยสามัญแล้วจะไม่กล้าทำเมื่อยังไม่เกิดความโกรธ แต่พอความโกรธเกิดขึ้นมาแล้วก็กล้าทำทุกอย่าง โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะตามมาเลย เพราะปัญญาของเขาได้มืดมนลงเสียแล้วเพราะอำนาจของความโกรธมาบดบัง

ดังนั้น เราจึงควรหาทางป้องกันไม่ให้ความโกรธเกิดขึ้นในจิตในใจ ด้วยการฝึกเจริญเมตตา ใช้เมตตาธรรมมาป้องกันความโกรธ หากแม้ป้องกันไม่ไหว ปล่อยใหความโกรธเกิดขึ้นมาได้ ก็ต้องฝึกใช้ขันติคือความอดทนอดกลั้น ข่มความโกรธนั้นเอาไว้ให้ได้ อย่าให้มันบงการจิตของเราให้ทำตามอำนาจของมันเด็ดขาด เพราะการทำตามอำนาจของความโกรธนั้น ย่อมจะก่อผลเสียให้เราอย่างแน่นอน