กุทฺโธ ธมฺมํ น ปสฺสติ “ผู้โกรธ ย่อมไม่เห็นธรรม”

กุทฺโธ ธมฺมํ น ปสฺสติ.

[คำอ่าน : กุด-โท, ทำ-มัง, นะ, ปัด-สะ-ติ]

“ผู้โกรธ ย่อมไม่เห็นธรรม”

(องฺ.สตฺตก. 23/99)

ผู้ที่มักโกรธ คือมีความโกรธเป็นเจ้าเรือน ย่อมมีปัญญาขุ่นมัว เพราะถูกความโกรธบดบัง มีอารมณ์ขุ่นเคือง เพราะถูกความโกรธก่อกวน เหมือนน้ำที่อยู่ในบ่อ ภายใต้บ่อเป็นโคลน เมื่อมีคนเอาไม้ไปกวน โคลนก็คลุ้งขึ้นมา ทำให้น้ำขุ่น มองไม่เห็นอะไร

คนมักโกรธ ย่อมมีปัญญามืดบอดดังที่กล่าวมา ทำให้ไม่เห็นอรรถไม่เห็นธรรม ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ไม่รู้บาป ไม่รู้บุญ ไม่รู้คุณ ไม่รู้โทษ ไม่รู้ประโยชน์หรือมิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นเหตุแห่งความสุข ไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นเหตุแห่งความทุกข์

เมื่อไม่รู้ดังที่กล่าวมา ทำให้เขาสามารถทำอะไรก็ได้โดยที่ไม่เกรงกลัวต่อบาปและผลของบาป ส่งผลให้ทำกรรมตามอำนาจของความโกรธ ซึ่งจะก่อให้เกิดความพินาศเดือดร้อน ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความเดือดร้อนในโลกนี้ หรือความเดือดร้อนในโลกหน้า

ดังนั้น เมื่อความโกรธเกิดขึ้น พึงรีบใช้ขันติธรรมมาข่ม และใช้เมตตาธรรมมายับยั้งโดยเร็ว จะได้ไม่ตกเป็นทาสของความโกรธ และสร้างกรรมที่ร้ายแรง อันจะส่งผลเสียทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น