บุญกิริยาวัตถุ 3 ประการ

บุญกิริยาวัตถุ แปลว่า ที่ตั้งแห่งการทำบุญ หรือ วิธีการทำบุญ วิธีที่ก่อให้เกิดบุญ เป็นการแนะนำช่องทางสำหรับการบำเพ็ญบุญกุศลในพุทธศาสนา ท่านจำแนกเป็น 3 อย่างหลัก ๆ คือ

1. ทานมัย

ทานมัย บุญกิริยาวัตถุ ที่ตั้งแห่งการทำบุญ สำเร็จด้วยการให้ หมายถึง การให้ปันสิ่งของของตนเพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น เช่น ทำอาหารไปตักบาตรถวายพระ เพื่อเป็นการบำรุงพระพุทธศาสนา ส่งเสริมสงเคราะห์ให้พระภิกษุได้มีเรี่ยวแรงกำลังในการบำเพ็ญสมณธรรม เผยแผ่พระพุทธศาสนา การแบ่งข้าวของเครื่องใช้ให้แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก เพื่อเป็นการช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลก เป็นต้น

การให้นี้ถือว่าเป็นบุญเบื้องต้น เป็นบุญที่สามารถทำได้ง่ายที่สุด ในบรรดาบุญทั้งหลาย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำง่ายเสียทีเดียว เพราะผู้จะให้ได้นั้น จำเป็นต้องกำจัดความตระหนี่ถี่เหนียวเสียให้ได้ จึงจะสามารถตัดใจให้ปันสิ่งของของตนเองแก่คนอื่นได้

2. สีลมัย

สีลมัย บุญกิริยาวัตถุ ที่ตั้งแห่งการทำบุญ สำเร็จด้วยการรักษาศีล หมายถึง การรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ตั้งใจสมาทานรักษาศีลเป็นนิตย์ โดยการสมาทานรักษาศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 เป็นต้น ตามสมควรแก่ภาวะของตน

การรักษาศีลให้บริสุทธิ์นั้น เป็นบุญที่ยิ่งกว่าทานขึ้นมาอีก คือเป็นบุญที่สูงขึ้นมาอีก เพราะเป็นการชำระจิตใจให้ปราศจากความอาฆาตพยาบาท มีจิตใจอ่อนโยน มีความประพฤติทางกาย วาจา ใจ ที่เรียบร้อย และศีลนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับการดำรงชีวิต เพราะช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตอย่างสงบสุข และสังคมคนรอบข้างก็สงบสุขไปด้วย

3. ภาวนามัย

ภาวนามัย บุญกิริยาวัตถุ ที่ตั้งแห่งการทำบุญ สำเร็จด้วยการเจริญภาวนา คือ การปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง ภาวนามัยนี้ เป็นบุญขั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา เพราะเกี่ยวข้องกับการชำระกิเลสาสวะให้หมดไปจากขันธสันดาน เป็นหนทางที่จะนำพาผู้ปฏิบัติให้ไปถึงเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธสาสนา นั่นคือพระนิพพาน

บุญชนิดนี้เป็นบุญที่มีอานิสงส์มากที่สุด แต่ก็ทำยากมากที่สุดเช่นเดียวกัน เพราะโดยปกติการใช้ชีวิตในโลกนั้น เราต้องดิ้นรนทำมาหากิน ต้องทำการทำงานหาเลี้ยงชีพ เวลาที่จะปฏิบัติภาวนาจึงมีน้อย ผู้ที่มุ่งบำเพ็ญภาวนาจริง ๆ จึงละทางโลก ออกบวชเป็นพระภิกษุ เพื่อที่จะได้มีเวลาในการปฏิบัติกรรมฐานให้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง

ในบุญทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวมานั้น คนส่วนใหญ่นิยมทำบุญด้วยการให้มากกว่าข้ออื่น ๆ เพราะทำได้ง่ายที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราควรบำเพ็ญบุญให้ครบทั้ง 3 ประการ เพราะบุญแต่ละประเภท ก็มีอานิสงส์ที่แตกต่างกัน ถ้าเราทำบุญไม่ครบทั้ง 3 ด้าน เราก็ย่อมจะได้อานิสงส์ไม่ครบทั้ง 3 ด้าน เช่นเดียวกัน