บุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ

บุญกิริยาวัตถุ แปลว่า ที่ตั้งแห่งการทำบุญ หรือวิธีทำบุญ วิถีแห่งการทำบุญ ในพระไตรปิฎก ท่านจำแนกบุญกิริยาวัตถุไว้ 3 ประการ แต่พระอรรถกถาจารย์นำมาขยายให้มีความหลากหลายขึ้นเป็น 10 ประการ ดังนี้

1. ทานมัย

ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ คือการสละให้ปันสิ่งของของตนแก่ผู้อื่น เช่น การทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ การแบ่งปันสิ่งของให้แก่ผู้ยากไร้ การบริจาคสิ่งของหรือทรัพย์สินเงินทองช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก เป็นต้น

2. สีลมัย

สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล คือการสมาทานรักษาศีลให้บริสุทธิ์หมดจด เช่น พุทธศาสนิกชนทั่วไปรักษาศีล 5 บ้าง ศีล 8 บ้าง สามเณรรักษาศีล 10 พระภิกษุรักษาศีล 227 ข้อ เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการควบคุมรักษาความประพฤติทางกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามสมควรแก่สถานะของตน

3. ภาวนามัย

ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา หมายถึง การเจริญกรรมฐาน ทั้งสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินตามวิถีสู่เป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา นั่นคือพระนิพพานนั่นเอง

4. อปจายนมัย

อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน หมายถึง การเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน เคารพผู้ที่สูงกว่าตนโดยวัยวุฒิ คุณวุฒิ เช่น คนทั่วไปอ่อนน้อมต่อพระสงฆ์และสามเณร อ่อนน้อมต่อผู้มีอายุมากกว่าตน สามเณรอ่อนน้อมต่อพระภิกษุ พระภิกษุผู้มีพรรษาน้อยกว่า อ่อนน้อมต่อพระภิกษุผู้มีพรรษามากกว่า เป็นต้น

5. เวยยาวัจจมัย

เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการขวนขวายในกิจที่เป็นกุศล หรือการขวนขวายช่วยเหลือผู้อื่น เช่น การสละเวลาช่วยงานการกุศล ช่วยงานส่วนรวม อาสาช่วยงานผู้อื่นให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี เป็นต้น แต่กิจนั้น ๆ ต้องเป็นกิจที่เป็นบุญกุศลด้วย คือเป็นกิจที่ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น

6. ปัตติทานมัย

ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ คือการทำบุญแล้วอุทิศส่วนบุญให้ผู้อื่น เช่น อุทิศส่วนบุญให้พ่อแม่ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว อุทิศส่วนบุญให้เทวดาและสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นต้น

7. ปัตตานุโมทนามัย

ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาบุญ คือการยินดีในการทำบุญหรือการทำความดีทั้งหลายของผู้อื่น เห็นผู้อื่นทำบุญกุศลแล้วยินดีอนุโมทนา เห็นคนอื่นทำความดีแล้วยินดีอนุโมทนา ไม่ให้เกิดความริษยา ไม่ให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งแข่งดี สนับสนุนส่งเสริมผู้อื่นในการทำบุญ

8. ธัมมัสสวนมัย

ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม คือการฟังพระธรรมเทศนา หรือการฟังคำแนะนำสั่งสอนจากพระภิกษุหรือกัลยาณมิตรบัณฑิตชนทั้งหลาย ทำให้เกิดความรู้ในหลักธรรม ได้ฟังสิ่งใหม่ ๆ ได้รู้สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ เกิดปัญญา และสามารถนำความรู้นั้นไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

9. ธัมมเทสนามัย

ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม คือการนำธรรมะไปถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้รับรู้ เช่น พระสงฆ์แสดงธรรมแก่ฆราวาส หรือการที่บุคคลนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไปบอกเล่าให้คนอื่นได้รับรู้ เป็นต้น ก็จัดเข้าในข้อนี้เช่นกัน

10. ทิฏฐุชุกัมม์

ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ตรง คือการทำความเห็นให้ถูกต้องตามธรรม การปฏิบัติตนเป็นสัมมาทิฏฐิ ไม่มีความเห็นที่ผิดแผกไปจากหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน มีความเชื่อในเรื่องของกรรม ผลของกรรม เชื่อว่าสัตว์โลกทั้งปวงมีกรรมเป็นของตน และเชื่อในคำสั่งสอนของพระตถาคตเจ้า เป็นต้น