นกฺขตฺตํ ปฏิมาเนนฺตํ อตฺโถ พาลํ อุปจฺจคา

นกฺขตฺตํ ปฏิมาเนนฺตํ อตฺโถ พาลํ อุปจฺจคา.

[คำอ่าน : นัก-ขัด-ตัง, ปะ-ติ-มา-เนน-ตัง, อัด-โถ, พา-ลัง, อุ-ปัด-จะ-คา]

“ประโยชน์ย่อมละเลยคนโง่ผู้มัวถือฤกษ์อยู่”

(ขุ.ชา.เอก. 27/16)

การถือฤกษ์ถือยามนั้นถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาด เพราะฤกษ์ยามไม่สามารถสร้างประโยชน์ใด ๆ ได้ ผู้ถือฤกษ์ถือยามก็พลอยพลาดจากประโยชน์ไปด้วย

มีคนจำนวนมากที่ขาดปัญญา มัวแต่ถือฤกษ์ถือยาม รอเวลาสร้างความดี จนบางทีก็ไม่มีโอกาสได้สร้างความดี เพราะมัวแต่รอฤกษ์งามยามดี อันนั้นเป็นลักษณะของคนเขลาขาดปัญญา แทนที่จะได้ทำคุณงามความดีในเมื่อโอกาสเหมาะมาถึง แต่เพราะมัวถือฤกษ์ถือยาม จึงพลาดโอกาสนั้นไปอย่างน่าเสียดาย

คำสอนในพระพุทธศาสนานั้น ท่านไม่ให้ถือกฤกษ์ถือยาม ทำความดีเมื่อไหร่ เป็นฤกษ์งามยามดีเมื่อนั้น ทำความชั่วเมื่อไหร่ เป็นฤกษ์ไม่ดีเมื่อนั้น ไม่ใช่จะไปดูดาวบนท้องฟ้า ดูการโคจรของดวงดาว วันนั้นดี วันนี้ไม่ดี เช้าดี บ่ายไม่ดี อะไรทำนองนี้

ถ้ามัวแต่ถือฤกษ์อยู่อย่างนี้ ย่อมพลาดประโยชน์ที่ควรได้ควรถึงไปได้ง่าย ๆ เพราะแทนที่จะได้สร้างประโยชน์เดี๋ยวนี้ กลับต้องมานั่งรอฤกษ์อยู่ เวลาก็ล่วงเลยไป ถ้าตายก่อนก็จบกันเท่านั้นเอง