ปมาทมนุยุญฺชนฺติ พาลา ทุมฺเมธิโน ชนา

ปมาทมนุยุญฺชนฺติ พาลา ทุมฺเมธิโน ชนา.

[คำอ่าน : ปะ-มา-ทะ-มะ-นุ-ยุน-ชัน-ติ, พา-ลา, ทุม-เม-ทิ-โน, ชะ-นา]

“คนพาลมีปัญญาทราม ย่อมประกอบแต่ความประมาท”

(ม.ม. 13/488, สํ.ส. 15/36, ขุ.ธ. 25/18)

คนพาล คือ คนที่ไม่มีปัญญา ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ไม่รู้จักประโยชน์หรือมิใช่ประโยชน์ อะไรดีหรือไม่ดีก็ไม่รู้ อะไรถูกอะไรผิดก็ไม่สน สนแต่ความต้องการของตนเองเท่านั้น

คนพาลหรือคนไม่มีปัญญา ย่อมใช้ชีวิตด้วยความประมาท หลงระเริงอยู่กับสิ่งที่เหลวไหลไร้สาระ เป็นการนำพาตนไปสู่ความฉิบหายถ่ายเดียวเท่านั้น ไม่ได้มุ่งหน้าสู่ความเจริญเลย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ชีวิตของเขาย่อมตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสอย่างเดียว โอกาสที่จะพ้นไปจากอำนาจของกิเลสได้นั้น เป็นสิ่งที่ยากนักยากหนา เพราะความประมาทของเขานั่นเอง

ดังนั้น ความประมาท จึงเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ก่อประโยชน์ ก่อแต่โทษอย่างเดียวเท่านั้น บัณฑิตชนทั้งหลายจึงติเตียนความประมาท สรรเสริญความไม่ประมาท และดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาท อันเป็นวิถีที่ตรงกันข้ามกับคนพาล เมื่อเป็นเช่นนี้ บัณฑิตชนจึงประสบแต่ประโยชน์สุข ส่วนพาลชนย่อมประสบแต่ความฉิบหายไร้ประโยชน์อย่างเดียวเท่านั้น