ธีโร โภเค อธิคมฺม สงฺคณฺหาติ จ ญาตเก

ธีโร โภเค อธิคมฺม สงฺคณฺหาติ จ ญาตเก.

[คำอ่าน : ที-โร, โพ-เค, อะ-ทิ-คำ-มะ, สัง-คัน-หา-ติ, จะ, ยา-ตะ-เก]

“ปราชญ์ได้โภคทรัพย์แล้ว ย่อมสงเคราะห์ญาติ”

(ขุ.ชา.ฉกฺก. 27/205)

การใช้ชีวิตบนโลกมนุษย์นี้ เราจะต้องมีสังคม มีญาติสนิทมิตรสหาย มีคนรู้จักคุ้นเคย เราไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ในสังคม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ญาติ เป็นผู้ที่เราใกล้ชิดที่สุด คอยสงเคราะห์ช่วยเหลือเรามาตั้งแต่ยังเล็ก ในช่วงที่เรายังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ญาติจึงมีความสำคัญต่อชีวิตเรามิใช่น้อย

นักปราชญ์ผู้มีปัญญา เมื่อเติบโตมา มีความรู้ มีความสามารถ ประกอบกิจการงานต่าง ๆ สะสมทรัพย์สมบัติได้มากพอที่จะเลี้ยงตัวเองและครอบครัว และมีเก็บไว้ใช้สอย

เมื่อมานึกถึงความสนิทสนมที่มีต่อญาติ ๆ ย่อมแบ่งทรัพย์สมบัติของตนเพื่อสงเคราะห์ญาติ ๆ ของตนนั้นตามสมควรแก่ฐานะ ให้ญาติทั้งหลายได้มีความอยู่ดีมีสุขตามอัตภาพ และตนเองก็ไม่เดือดร้อน

เพราะการสงเคราะห์กันนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น เป็นหลักธรรมสำหรับการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ทำให้มนุษย์เราอยู่ร่วมกันได้ด้วยความเมตตาปราณีต่อกัน