โย พาโล มญฺญตี พาลฺยํ ปณฺฑิโต วาปิ เตน โส

โย พาโล มญฺญตี พาลฺยํ ปณฺฑิโต วาปิ เตน โส.

[คำอ่าน : โย, พา-โล, มัน-ยะ-ตี, พาน-ละ-ยัง, ปัน-ทิ-โต, วา-ปิ, เต-นะ, โส]

“คนโง่รู้สึกว่าตนโง่ จะเป็นผู้ฉลาดเพราะเหตุนั้นได้บ้าง”

(ขุ.ธ. 25/23)

คำว่า “พาล” หมายถึง คนโง่ คือผู้ไม่รู้ ในทางโลกหมายถึงผู้ที่ไม่มีความรู้ด้านศิลปะวิทยาการต่าง ๆ ที่จะใช้ในการทำมาหากินประกอบวิชาชีพต่าง ๆ

ส่วนในทางธรรมนั้น หมายถึง ผู้ที่ไม่มีปัญญา ไม่รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์หรือมิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ว่าอะไรควรไม่ควร ไม่รู้จักทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และทางดับทุกข์

คนโง่จำนวนมากที่ไม่รู้ว่าตัวเองโง่ ทั้ง ๆ ที่โง่อยู่อย่างนั้น แต่ก็คิดว่าตัวเองฉลาด คิดว่าตัวเองดีแล้ว มีความรู้แล้ว สมบูรณ์แบบแล้ว อย่างนี้เรียกว่า โง่ดักดาน

แต่คนโง่บางประเภท รู้ตัวว่าโง่ แล้วก็แสวงหาความรู้ หมั่นศึกษา หมั่นเข้าหาผู้มีปัญญา สอบถามปัญหาข้อสงสัยเพื่อให้ได้ความกระจ่าง บุคคลประเภทนี้ยังนับว่าฉลาด จะสามารถกลายเป็นผู้มีปัญญาได้ในภายหน้า