อสนฺเตตฺถ น ทิสฺสนฺติ รตฺตึ ขิตฺตา ยถา สรา

อสนฺเตตฺถ น ทิสฺสนฺติ รตฺตึ ขิตฺตา ยถา สรา.

[คำอ่าน : อะ-สัน-เตด-ถะ, นะ, ทิด-สัน-ติ, รัด-ติง, ขิด-ตา, ยะ-ถา, สะ-รา]

“อสัตบุรุษ แม้นั่งอยู่ในที่นี้เอง ก็ไม่ปรากฏ เหมือนลูกศรที่ยิงไปกลางคืน”

(ขุ.ธ. 25/55)

อสัตบุรุษ คือ คนไม่ดี ไม่มีคุณธรรม ทำแต่ความชั่วช้าเลวทรามอยู่ตลอดเวลา จึงไม่มีคุณงามความดีใด ๆ ให้กล่าวถึง

คนที่ไม่ดีแม้จะอยู่ใกล้ ๆ แค่เอื้อมก็เหมือนอยู่ไกลนักหนา เพราะคุณงามความดีของเขาไม่มีปรากฏให้เห็น ไม่มีข้อดีอะไรให้บุคคลทั้งหลายได้กล่าวถึง

ตรงกันข้ามกับสัตบุรุษคือคนดีมีศีลธรรม แม้จะอยู่ไกลแสนไกลแค่ไหนก็เหมือนอยู่ใกล้ ๆ แค่เอื้อม เพราะคนทั้งหลายย่อมกล่าวถึงคุณงามความดีของเขา

คือถึงเขาจะอยู่ไกล แต่คนก็ยังพูดถึงคุณงามความดีของเขาอยู่มิได้ขาด คนอื่น ๆ ย่อมได้ยินเกียรติคุณอันดีของเขาอยู่บ่อย ๆ ประหนึ่งว่า ไปที่ไหน ๆ ก็มีสัตบุรุษนั้นอยู่ เพราะคุณงามความดีของเขาถูกกล่าวถึงอยู่ในทุก ๆ ที่นั่นเอง