โภคตณฺหาย ทุมฺเมโธ หนฺติ อญฺเญว อตฺตนํ

โภคตณฺหาย ทุมฺเมโธ หนฺติ อญฺเญว อตฺตนํ.

[คำอ่าน : โพ-คะ-ตัน-หา-ยะ, ทุม-เม-โท, หัน-ติ, อัน-เย-วะ, อัด-ตะ-นัง]

“ผู้มีปัญญาทราม ย่อมฆ่าตนเองเหมือนฆ่าผู้อื่น เพราะอยากได้โภคทรัพย์”

(ขุ.ธ. 25/63)

คำว่า “ผู้มีปัญญาทราม” หมายถึง บุคคลผู้โง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ไม่รู้จักประโยชน์หรือมิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร

ผู้มีปัญญาทราม เมื่ออยากได้โภคทรัพย์ ย่อมแสวงหาโภคทรัพย์นั้นมาด้วยวิธีต่าง ๆ โดยไม่นำคึงว่า วิธีนั้น ๆ เป็นวิธีที่ถูกต้องหรือไม่ ขัดต่อหลักศีลธรรมหรือไม่ หรือผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองหรือไม่ จะนำความเดือดร้อนมาสู่ตนเองและผู้อื่นหรือไม่ เขาจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งโภคทรัพย์ที่ตนต้องการ นับเป็นการฆ่าตัวเองอย่างหนึ่ง คือการฆ่าตัวเองให้ตายไปจากคุณงามความดี

อีกอย่างหนึ่ง คนมีปัญญาทราม เมื่อมีทรัพย์ก็ย่อมใช้ทรัพย์นั้นในทางที่จะสร้างความฉิบหายให้ตัวเอง เช่น ใช้ทรัพย์ในทางที่เป็นอบายมุข เป็นต้น นับเป็นการฆ่าตัวเอง เพราะเป็นการผลาญประโยชน์ของตัวเอง และสร้างบาปกรรมให้กับตัวเอง อันจะเป็นเหตุให้ตัวเองต้องไปชดใช้กรรมในภายภาคหน้า

การใช้ทรัพย์โดยปราศจากปัญญานั้นถือว่าเป็นการผลาญประโยชน์ของตนเองอย่างสิ้นเชิง ผลาญทั้งประโยชน์ในโลกนี้ ผลาญทั้งประโยชน์ในโลกหน้า ได้ชื่อว่า ค่อย ๆ ฆ่าตัวเองอย่างช้า ๆ สุดท้ายกลายเป็นคนเสื่อมจากประโยชน์ทั้งปวง ได้ชื่อว่า ตายทั้งเป็น