สพฺพตฺถ ทุกฺขสฺส สุขํ ปหานํ “ละเหตุแห่งทุกข์ได้ เป็นสุขในที่ทั้งปวง”

สพฺพตฺถ ทุกฺขสฺส สุขํ ปหานํ.

[คำอ่าน : สับ-พัด-ถะ, ทุก-ขัด-สะ, สุ-ขัง, ปะ-หา-นัง]

“ละเหตุแห่งทุกข์ได้ เป็นสุขในที่ทั้งปวง”

(ขุ.ธ. 25/59)

เหตุแห่งทุกข์ หมายถึง สิ่งที่เป็นต้นเหตุหรือสาเหตุให้ทุกข์เกิด นั่นก็คือ ตัณหา เพราะตัณหานี่แหละ มนุษย์ทั้งหลายจึงเป็นทุกข์อยู่จนทุกวันนี้

ตัณหา คือ ความทะยานอยาก มี 3 ประการ คือ

  1. กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม
  2. ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น
  3. วิภวตัณหา ความอยากหลุดพ้นจากสิ่งที่ไม่ต้องการ

ตัณหาทั้ง 3 ประการนี้แหละ ที่ทำให้สัตว์โลกทุกประเภทต้องเวียนว่ายตายเกิด และต้องประสบกับความทุกข์อันใหญ่หลวงไม่จบสิ้นเสียที

พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้เหล่าสาวกทำลายเหตุแห่งทุกข์คือตัณหานี้เสีย ด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน อันเป็นหนทางเดียวที่จะกำจัดเหตุแห่งทุกข์คือตัณหานี้เสียได้

เมื่อกำจัดตัณหาเหล่านี้ได้แล้ว เหตุให้เวียนว่ายตายเกิดอีกก็ไม่มี เราก็จะประสบสุขที่แท้จริง นั่นคือ พระนิพพาน อันเป็นเอกันตบรมสุข หาสุขอื่น ๆ เทียบเทียมมิได้