โทษของทุจริต 5 ประการ

โทษของทุจริต 5 ประการ

โทษของทุจริต 5 ประการ

ทุจริต คือ การประพฤติชั่ว หมายเอาความชั่วทางกาย 3 ประการ ที่เรียกว่า กายทุจริต ความชั่วทางวาจา 4 ประการ ที่เรียกว่า วจีทุจริต และความชั่วทางใจ 3 ประการ ที่เรียกว่า มโนทุจริต

ความประพฤติชั่วดังกล่าวนั้น เมื่อบุคคลกระทำลงไปแล้วย่อมก่อให้เกิดโทษหรือข้อเสีย 5 ประการ ดังนี้

1. ตนเองย่อมติเตียนตนเองได้

คนที่ทำความชั่ว ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นเป็นความชั่ว แม้รู้อยู่อย่างนี้แล้วยังทำความชั่วเช่นนั้นอีก เขาย่อมเห็นช่องที่จะติเตียนตนเองได้ ถึงแม้โดยปกติบุคคลทั้งหลายมักจะไม่ติเตียนตนเอง แต่เขาย่อมจะรู้อยู่แก้ใจว่า เขาเป็นคนที่น่าติเตียน หรือการกระทำของเขานั้นเป็นการกระทำที่น่าติเตียน เขาย่อมหาเหตุผลที่จะมายกย่องชมเชยตนเองไม่ได้เลย เพราะความประพฤติชั่วเช่นนั้น

2. ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วย่อมติเตียน

คำว่า ผู้รู้ หมายถึง บัณฑิตชน ธรรมดาบัณฑิตชนนั้นย่อมไม่ติเตียนคนอื่นทั่วไป แต่เมื่อได้เห็นความประพฤติชั่วของผู้ใดผู้หนึ่งเข้า บัณฑิตชนพิจารณาด้วยดีแล้ว ย่อมติเตียนได้ว่า การกระทำของบุคคลนั้นเป็นการกระทำที่น่าติเตียน ไม่สมควรยึดถือเป็นแบบอย่าง

การติเตียนเช่นนั้น ไม่ใช่เพราะบัณฑิตชนชอบติเตียน แต่เป็นเพราะการกระทำนั้นเป็นสิ่งที่น่าติเตียนอย่างแท้จริง

3. เสียชื่อเสียง

บรรดาความชั่วทั้งหลายในโลกนี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียทั้งสิ้น ผู้ที่กระทำความชั่วย่อมเสียชื่อเสียง ผู้คนรู้เรื่องความชั่วของเขาถึงที่ไหน ความเสื่อมเสียชื่อเสียงของเขาก็ย่อมกระฉ่อนไปถึงที่นั่น ผู้คนทั้งหลายที่ได้ยินเรื่องความชั่วของเขา ย่อมติฉินนินทาเขาในที่นั้น ๆ ดังนั้น ความชั่วนี้ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างหาประมาณมิได้

4. หลงทำกาละ (ตายไม่ดี)

คำว่า หลงทำกาละ หมายถึง ตายแบบไม่ได้สติ คนที่ทำความชั่วอยู่เป็นประจำ มักจะนึกถึงแต่ความชั่วที่ตัวเองกระทำไว้อยู่ตลอด แม้ในคราวที่ต้องตายไป เขายังนึกถึงความชั่วของตัวเองอยู่ตลอด ในเวลาใกล้ตาย แม้อยากจะนึกถึงความดีของตัวเองสักข้อที่เคยทำไว้ก็ไม่สามารถระลึกได้ เพราะความชั่วที่เคยทำไว้จะคอยรบกวนจิตใจของเขา เหตุนั้น เมื่อถึงคราวตาย เขาจึงไม่สามารถทำใจให้สงบ ไม่สามารถระลึกถึงคุณงามความดีอันจะพาไปสู่ภพภูมิที่ดีได้ จึงเรียกว่า หลงทำกาละ หลงตาย หรือไม่ตายดีนั่นเอง

5. เมื่อตายไปแล้วย่อมไปเกิดในทุคติ

ด้วยเหตุที่คนที่กระทำความชั่วมามาก เมื่อถึงคราวตายก็ไม่สามารถระลึกถึงคุณงามความดีของตนเองได้ ไม่สามารถทำจิตใจให้สงบได้ เพราะความชั่วที่ตนเคยประพฤติมานั้นคอยรบกวนจิตใจให้ว้าวุ่นขุ่นมัวอยู่ตลอด เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาย่อมตายไปพร้อมกับจิตที่ระลึกถึงความชั่วที่เคยกระทำ ตายไปโดยที่จิตเศร้าหมอง

การตายพร้อมกับจิตที่เศร้าหมองนี้แหละ จะทำให้เขาต้องมีทุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า หรือไปสู่ภพภูมิที่ไม่ดีนั่นเอง ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา” แปลว่า “เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันต้องหวัง”