ธมฺมจารี สุขํ เสติ “ผู้ประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข”

ธมฺมจารี สุขํ เสติ.

[คำอ่าน : ทำ-มะ-จา-รี, สุ-ขัง, เส-ติ]

“ผู้ประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข”

(ขุ.ธ. 25/37,38, ขุ.อุ. 25/366)

ผู้ประพฤติธรรม หมายถึง ผู้ดำรงตนอยู่บนหลักของศีลธรรม ดำเนินชีวิต ประกอบวิชาชีพ ภายใต้กรอบของศีลธรรมอันดี ไม่ละเมิดข้อห้ามที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามเพราะเป็นทางแห่งความเสื่อม และกระทำตามหลักธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้กระทำเพราะเป็นทางแห่งความเจริญ

เมื่อว่าโดยความหมายที่สูงขึ้นไป ผู้ประพฤติธรรม หมายถึง ผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ดำเนินตามวิถีแห่งอริยมรรคมีองค์แปด อันเป็นหนทางที่จะนำผู้ดำเนินหรือผู้ปฏิบัติเข้าสู่ทางแห่งความพ้นทุกข์ คือเป็นหนทางที่จะนำผู้ปฏิบัติเข้าสู่พระนิพพาน อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา

บุคคลที่ประพฤติธรรม จะเป็นบุคคลที่ละเว้นความชั่ว สร้างสมอบรมแต่กรรมดี หมั่นทำบุญ รักษาศีล เจริญภาวนา อันเป็นหนทางแห่งการสร้างบารมีและเข้าสู่ความพ้นทุกข์

เมื่อเป็นอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ คือใช้ชีวิตด้วยการประพฤติธรรม ใช้หลักธรรมเป็นหลักในการดำเนินชีวิต เขาย่อมห่างไกลจากอบายมุขคือทางแห่งความเสื่อมทุกประเภท และหันหน้าเข้าสู่ความสุขความเจริญโดยส่วนเดียว

บุคคลผู้ที่ประพฤติตามธรรมอยู่เสมอ จึงเป็นบุคคลที่ห่างจากความทุกข์ มีความสุขเป็นผลที่จะได้รับ เพราะการกระทำของเขา เป็นสาเหตุแห่งความสุขโดยส่วนเดียว

ไม่ใช่แต่เพียงผู้ประพฤติธรรมเท่านั้นที่จะอยู่เป็นสุข แม้แต่บริวารชน หรือบุคคลทั้งหลายที่คอยห้อมล้อมหรือคบค้าสมาคมกับบุคคลผู้ประพฤติธรรม ย่อมได้รับอานิสงส์ไปด้วย คือพลอยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สงบสุขร่มเย็นไปด้วย

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า การประพฤติธรรม มีอานิสงส์เป็นความสุข ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น