มา ปมาทมนุยุญฺเชถ “อย่ามัวประกอบความประมาทเลย”

มา ปมาทมนุยุญฺเชถ.

[คำอ่าน : มา, ปะ-มา-ทะ-มะ-นุ-ยุน-เช-ถะ]

“อย่ามัวประกอบความประมาทเลย”

(ขุ.ธ. 25/18, ม.ม. 13/488, สํ.ส. 15/36)

ความประมาท คือ อาการที่ขาดสติ ปล่อยจิตใจให้หลงระเริงไปกับสิ่งยั่วยุทางโลก คนที่ประมาท ย่อมไม่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ตนเองและผู้อื่นเลย มีแต่จะสร้างความฉิบหายให้แก่ตนเองและผู้อื่นเท่านั้น

ความประมาทนั้น ไม่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ผู้ใด มีแต่จะสร้างความเสื่อมให้อย่างเดียว เพราะคนประมาทก็เหมือนคนที่ตายแล้ว ไม่สามารถสร้างคุณประโยชน์ใด ๆ ได้

เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนว่า อย่ามัวประมาทอยู่เลย จงใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาทเถิด คือให้เราทั้งหลาย เร่งขวนขวายสร้างบุญกุศล สร้างบารมีอันจะเป็นเครื่องนำไปสู่ความพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสาร คือการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

เพราะการเวียนว่ายตายเกิดในห้วงมหรรณพภพสงสารนั้น มันเป็นทุกข์ที่ใหญ่หลวง เป็นทุกข์ที่ยาวนาน และทุกข์เหล่านั้น เกิดขึ้นก็เพราะความประมาทนี่เองเป็นเหตุ ดังนั้น เราควรละความประมาท หันมาดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาท เร่งสร้างกุศล สร้างบารมี ในขณะที่ยังสามารถทำได้ จะได้ไม่โอดครวญในภายหลัง และไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา