กิจในอริยสัจ 4

กิจในอริยสัจ 4 คือ หน้าที่อันจะพึงทำต่ออริยสัจ 4 แต่ละอย่าง ข้อที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องและเสร็จสิ้นในอริยสัจ 4 แต่ละอย่าง ผู้ที่จะปฏิบัติให้ตรัสรู้ได้นั้น จะต้องปฏิบัติกิจในอริยสัจ 4 แต่ละข้อให้ถูกต้อง ดังนี้

1. ปริญญา

ปริญญา แปลว่า การกำหนดรู้ เป็นกิจที่ต้องทำในทุกข์ ตามหลักว่า ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ปริญฺเยยฺยํ “ควรกำหนดรู้ทุกข์” ความหมายก็คือ ควรศึกษาให้รู้จักและเข้าใจทุกข์ตามสภาพที่เป็นจริงและแจ่มแจ้งชัดเจน คือการทำความเข้าใจและกำหนดขอบเขตของปัญหา

2. ปหานะ

ปหานะ แปลว่า การละ เป็นกิจที่ต้องทำในสมุทัย ตามหลักว่า ทุกขสมุทโย อริยสจฺจํ ปหาตพฺพํ “ควรละเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์” หมายความว่า ควรกำจัดตัณหา 3 คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา อันเป็นสาเหตุต้นตอที่ทำให้เกิดทุกข์ ให้หมดสิ้นไปจากขันธสันดาน ได้แก่ การกำจัดต้นตอของปัญหา

3. สัจฉิกรณะ

สัจฉิกรณะ หรือ สัจฉิกิริยา แปลว่า การทำให้แจ้ง เป็นกิจที่ต้องทำในนิโรธ ตามหลักว่า ทุกฺขนิโรโธ อริยสจฺจํ สจฺฉิกาตพฺพํ “นิโรธคือความดับทุกข์ ควรทำให้แจ้ง” หมายความว่า ความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง เป็นเป้าหมายที่ต้องทำให้แจ้งคือให้สำเร็จ

4. ภาวนา

ภาวนา แปลว่า การเจริญ เป็นกิจที่ต้องทำในมรรค ตามหลักว่า ทุกฺขนิโรธคามินี ปฏิปทา อริยสจฺจํ ภาเวตพฺพํ “ปฏิปทาเป็นเครื่องถึงความดับทุกข์ ควรทำให้เจริญ” หมายความว่า ควรฝึกอบรม ลงมือปฏิบัติ กระทำตามวิธีการที่จะนำไปสู่จุดหมายคือความดับทุกข์ ได้แก่ การเจริญมรรคมีองค์ 8

ในการแสดงอริยสัจจ์ ก็ดี ในการปฏิบัติธรรมตามหลักอริยสัจจ์ ก็ดี จะต้องให้อริยสัจจ์แต่ละข้อ สัมพันธ์ตรงกันกับกิจแต่ละอย่าง จึงจะเป็นการแสดงและเป็นการปฏิบัติโดยชอบ ทั้งนี้ วางเป็นหัวข้อได้ดังนี้

  1. ทุกข์ เป็นขั้นแถลงปัญหาที่จะต้องทำความเข้าใจและรู้ขอบเขต (ปริญญา)
  2. สมุทัย เป็นขั้นวิเคราะห์และวินิจฉัยมูลเหตุของปัญหา ซึ่งจะต้องแก้ไขกำจัดให้หมดสิ้นไป (ปหานะ)
  3. นิโรธ เป็นขั้นชี้บอกภาวะปราศจากปัญหา อันเป็นจุดหมายที่ต้องการ ให้เห็นว่าการแก้ปัญหาเป็นไปได้ และจุดหมายนั้นควรเข้าถึง ซึ่งจะต้องทำให้สำเร็จ (สัจฉิกิริยา)
  4. มรรค เป็นขั้นกำหนดวิธีการ ขั้นตอน และรายละเอียดที่จะต้องปฏิบัติในการลงมือแก้ปัญหา (ภาวนา)