ปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณ์ 10 ประการ

ปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณ์ คือ ธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ หรือนึกถึงอยู่เสมอ เพื่อเตือนใจตนเองให้เป็นผู้มีความประพฤติดีปฏิบัติชอบ เป็นเครื่องป้องกันความประมาท เร่งสร้างกุศลบุญบารมี และละเว้นจากการประพฤติชั่วอันจะเป็นเครื่องพาตัวให้ตกต่ำ

บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ อย่างนี้ว่า

1. เราถึงความมีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว

การพิจารณาเช่นนี้ เพื่อให้บรรพชิตประพฤติตัวให้เหมาะควรแก่ภาวะของตนในฐานะที่เป็นบรรพชิต เพื่อให้เกิดความเคารพศรัทธาแก่ชาวบ้าน ไม่แสดงกิริยาอาการอย่างเช่นคฤหัสถ์อันจะเป็นเหตุให้อุบาสกอุบาสิกาทัังหลายต้องเสื่อมศรัทธา

2. การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น

การพิจารณาเช่นนี้ เพื่อให้บรรพชิตตระหนักถึงการเลี้ยงชีพของตน ว่าตนเองอาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพ คืออาศัยอาหารบิณฑบาตที่ผู้มีจิตศรัทธาถวายมาเลี้ยงชีพ ไม่สามารถประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงชีพเองได้ จะได้ปฏิบัติตัวให้เหมาะสม รักษาศีลให้บริสุทธิ์ จะได้เป็นเนื้อนาบุญให้แก่ผู้ถวายอาหารบิณฑบาต และเพื่อให้ตนเองเป็นผู้คู่ควรแก่อาหารบิณฑบาตนั้น

3. เรามีอากัปกิริยาอย่างอื่นที่จะพึงทำ

การพิจารณาเช่นนี้ เพื่อให้บรรพชิตตระหนักว่าตนเองมีกฏระเบียบเกี่ยวเนื่องด้วยกิริยามารยาทที่ต้องปฏิบัติอันต่างไปจากกิริยามารยาทแห่งบุคคลทั่วไป และพัฒนากิริยามาทยาทของตนเองให้เหมาะสม เพื่อให้มีอิริยาบถเรียบร้อยเหมาะสม สามารถบำเพ็ญไตรสิกขาได้อย่างบริบูรณ์

4. ตัวเรายังติเตียนตัวเราเองโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่

การพิจารณาเช่นนี้ เพื่อให้บรรพชิตหมั่นสำรวจตรวจสอบตนเองว่าเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์หรือไม่ เพราะตนเองย่อมรู้ดีกว่าผู้อื่นว่าตนเองมีศีลบริสุทธิ์หรือไม่อย่างไร หากพบว่าตนเองยังมีศีลไม่บริสุทธิ์ จะได้ปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นต่อไป

5. เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญูชนพิจารณาแล้ว ยังติเตียนเราโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่

การพิจารณาเช่นนี้ เพื่อให้บรรพชิตลดทิฏฐิมานะ ยินดีรับฟังคำแนะนำตักเตือนจากผู้อื่น อีกทั้งเพื่อใช้คำติเตียนจากผู้อื่นเป็นดุจกระจกส่องความประพฤติของตนเอง เพราะบางทีตนเองมองไม่เห็นความผิดพลาดของตน แต่คนอื่นย่อมมองเห็นได้ชัด ดังนั้น ถ้าผู้อื่นยังติเตียนได้อยู่ ก็ต้องสำรวมระวังและปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นต่อไป

6. เราจักต้องมีความพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น

การพิจารณาเช่นนี้ เพื่อให้บรรพชิตเข้าใจและยอมรับความเป็นไปของธรรมชาติซึ่งตกอยู่ภายใต้กฏพระไตรลักษณ์ คือ ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา สามารถยอมรับได้และปรับตัวได้กับความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงของสิ่งทั้งปวง ไม่ยินดียินร้ายกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าเหตุการณ์นั้น ๆ จะดีหรือร้ายก็ตาม

7. เรามีกรรมเป็นของตน เราทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักต้องเป็นทายาทของกรรมนั้น

การพิจารณาเช่นนี้ เพื่อให้บรรพชิตตระหนักถึงกฎแห่งกรรมอยู่เสมอ หมั่นสั่งสมอบรมคุณงามความดีอยู่เสมอ ละเว้นบาปอกุศลทั้งหลาย และหมั่นชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้วจากกิเลสาสวะทั้งหลายอยู่ตลอดเวลา

8. วันคืนล่วงไปๆ เราทำอะไรอยู่

การพิจารณาเช่นนี้ เพื่อให้บรรพชิตเป็นผู้ไม่ประมาท ไม่ปล่อยวันเวลาให้ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์ ใช้เวลาทุกวินาทีให้คุ้มค่าที่สุด เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการทำลายทุกข์ในวัฏสงสาร

9. เรายินดีในที่สงัดอยู่หรือไม่

การพิจารณาเช่นนี้ เพื่อให้บรรพชิตมีความยินดีในกายวิเวก อันจะอำนวยประโยชน์ในด้านของการบำเพ็ญสมณธรรมให้บริบูรณ์

10. คุณวิเศษยิ่งกว่ามนุษย์สามัญที่เราบรรลุแล้ว มีอยู่หรือไม่ ที่จะให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขินเมื่อถูกเพื่อนบรรพชิตถาม ในกาลภายหลัง

การพิจารณาเช่นนี้ เพื่อให้บรรพชิตหมั่นบำเพ็ญสมณธรรมเพื่อให้เกิดคุณธรรมเบื้องสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนกว่าจะได้บรรลุธรรมสูงสุดคือพระนิพพาน ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถเข้าถึงพระนิพพานได้ในชาตินี้ ก็อย่าให้ต้องตายเปล่า

ธรรมทั้ง 10 ประการนี้ บรรพชิตควรพิจารณาอยู่เนือง ๆ เพื่อป้องกันความประมาท