อริยวัฑฒิ 5 ประการ

อริยวัฑฒิ หรือ อารยวัฒิ แปลว่า ความเจริญอย่างประเสริฐ หรือ หลักความเจริญของอารยชน เป็นหลักธรรมที่นำไปสู่ความเจริญอันประเสริฐ หรือแสดงถึงความเจริญงอกงามอย่างอารยชน มี 5 ประการ คือ

1. ศรัทธา

ศรัทธา ความเชื่อ หมายถึง ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล ความเชื่อที่ผ่านการใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองอย่างมีเหตุผลแล้วจึงตกลงใจเชื่อ หมายเอาความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย เชื่อมั่นในหลักแห่งความจริงความดีงามอันมีเหตุผล

2. ศีล

ศีล ความประพฤติดี มีวินัย ไม่ก่อเวรภัย ได้ฝึกในมรรยาทอันงาม ผู้ดำรงมั่นอยู่ในศีล อย่างต่ำคือศีล 5 อย่างสูงคือศีล 227 สำหรับภิกษุ หรือศีล 311 สำหรับภิกษุณี ย่อมงดเว้นจากการสร้างบาปอกุศลทั้งหลาย ประพฤติเฉพาะแต่สิ่งที่เป็นบุญกุศลโดยส่วนเดียว และผู้ทำดีเว้นชั่ว ย่อมประสบความเจริญงอกงาม ดังนั้น ศีล จึงเป็นประตูสู่ความเจริญงอกงามอีกประการหนึ่ง

3. สุตะ

สุตะ การสดับฟัง ใฝ่เล่าเรียนหาความรู้ ฝึกตนให้เชี่ยวชาญและทันต่อเหตุการณ์ ความเป็นผู้ใคร่ในการศึกษาเรียนรู้ หมั่นหาความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมอยู่เสมอ ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของโลก รู้เท่าทันสถานการณ์ของโลก และปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างกลมกลืน ก็เป็นประตูสู่ความเจริญงอกงามอีกประการหนึ่ง

4. จาคะ

จาคะ การเผื่อแผ่เสียสละ เอื้อเฟื้อ มีน้ำใจช่วยเหลือ ใจกว้าง พร้อมที่จะรับฟังและร่วมมือ การสละสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อความจริงใจ คือ เมื่อตั้งใจที่จะทำสิ่งใด โดยเฉพาะสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ มักจะมีอุปสรรคมากมายมาคอยขัดขวางอยู่เสมอ เช่น ความเกียจคร้าน ความกลัว ความเฉื่อยชา หรือกิเลสต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นมาเป็นตัวขวางความสำเร็จ เราต้องสละสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อความจริงใจนี้เสียให้ได้

5. ปัญญา

ปัญญา ความรอบรู้ หมายถึง ความหยั่งรู้ในเหตุผล พิจารณาให้เข้าใจในสภาวะของสิ่งทั้งหลายจนเข้าถึงความจริง เป็นเครื่องกำจัดอวิชชาคือความไม่รู้ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมืดมน เหมือนคนอยู่ในที่มืด ไม่รู้ทิศทาง มองอะไรไม่ออก หาทางออกไม่เจอ ปัญญาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรสร้างให้มี ทั้งปัญญาทางโลกและปัญญาทางธรรม