
สเจ ปุพฺเพกตเหตุ……….สุขทุกฺขํ นิคจฺฉติ
โปราณกํ กตํ ปาปํ….ตเมโส มุญฺจเต อิณํ.
[คำอ่าน]
สะ-เจ, ปุบ-เพ-กะ-ตะ-เห-ตุ……..สุ-ขะ-ทุก-ขัง, นิ-คัด-ฉะ-ติ
โป-รา-นะ-กัง, กะ-ตัง, ปา-ปัง…ตะ-เม-โส, มุน-จะ-เต, อิ-นัง
[คำแปล]
“ถ้าประสบสุขทุกข์ เพราะบุญบาปที่ทำไว้ก่อนเป็นเหตุ ชื่อว่าเปลื้องบาปเก่าที่ทำไว้ ดุจเปลื้องหนี้ฉะนั้น.”
(โพธิสตฺต) ขุ.ชา.ปญฺญาส. 28/25.
ความสุขและความทุกข์นั้นเป็นของคู่โลก เป็นธรรมประจำโลก จัดอยู่ในโลกธรรมที่ชาวโลกทั้งหลายเมื่อเกิดมาแล้วต้องประสบพบเจอ ไม่มีใครเลยที่จะมีแต่ความสุข และก็ไม่มีใครเลยที่จะมีแต่ความทุกข์เพียงอย่างเดียว
ความสุข เป็นอานิสงส์ของกรรมอันเป็นฝ่ายกุศลทั้งหลาย มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น อันบุคคลนั้น ๆ ได้เคยกระทำไว้แต่ภพก่อนชาติก่อนตามมาให้ผล หรือแม้แต่บุญกุศลที่ทำในชาตินี้ อันเป็นกุศลที่มีผลแรง ก็บันดาลความสุขให้ได้เช่นกัน
ความทุกข์ เป็นวิบากของกรรมอันเป็นฝ่ายอกุศลทั้งหลาย ได้แก่ กรรมอันเป็นทุจริต คือ กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ที่บุคคลนั้น ๆ ได้เคยสร้างไว้ในภพก่อนชาติก่อนตามมาให้ผล ทำให้ต้องได้รับความทุกข์ทางกายบ้างทางใจบ้าง หรือกรรมอันเป็นทุจริตที่กระทำในชาตินี้ ก็สามารถสร้างทุกข์ให้ในชาตินี้เป็นเบื้องต้นได้เช่นกัน เช่น ไปปล้นไปฆ่าคนอื่นเขาแล้วถูกจับติดคุก ได้รับโทษทางกฎหมายต้องได้รับความทุกข์ทรมาน เป็นต้น
สิ่งที่เราท่านทั้งหลายควรทำความเข้าใจก็คือเรื่องของกรรมเก่าอันคอยตามอำนวยผลที่เป็นสุขและเป็นทุกข์ให้เรานี่เอง
เมื่อได้รับความสุขความเจริญ ก็อย่ากระหยิ่มยิ้มย่องเกินไปนัก อย่าได้หลงคิดไปว่าชีวิตของตนเองจะมีแต่ความสุขความเจริญตลอดไป เพราะความสุขก็เป็นโลกธรรมอย่างหนึ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมไป เป็นธรรมดา
ความสุขที่เกิดขึ้น เป็นเพียงผลของบุญเก่าที่เราเคยทำมาให้ผลในช่วงเวลานั้น ๆ เท่านั้น เมื่อใดที่บุญนั้นหมดไปไม่สามารถอำนวยสุขให้แล้ว สุขนั้นก็ย่อมจะหมดไป
ดังนั้น ต้องหมั่นสร้างบุญใหม่ มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการสร้างเหตุแห่งความสุขทางโลกอันได้แก่ความสุขความเจริญอย่างที่ชาวโลกเขาปรารถนากันประการหนึ่ง และเพื่อปูทางไปสู่สุขอันเหนือโลกคือการบรรลุมรรคผลนิพพานอีกประการหนึ่ง ดังนี้ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท
ส่วนความทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น นั่นก็เป็นผลแห่งอกุศลกรรมที่เราทั้งหลายได้เคยประพฤติมาแต่ภพก่อนชาติก่อนตามมาให้ผล ก่อให้เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ ได้รับความทุกข์ทรมานทางกายบ้างทางใจบ้าง และปรากฏในรูปแบบต่าง ๆ เช่น โรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น
เมื่อความทุกข์เหล่านี้เกิดขึ้น ก็อย่าได้น้อยเนื้อต่ำใจ อย่าได้ไปโทษเทวดาฟ้าดิน แต่ให้พิจารณาให้เข้าใจว่า นี่เป็นผลแห่งกรรมของเราที่เราได้สร้างขึ้นเองในอดีต ถ้าความทุกข์มันมีมาก ก็แสดงว่าเราได้สร้างอกุศลกรรมไว้มาก ไม่ใช่ใครมากลั่นแกล้ง ไม่ใช่เทวดาฟ้าดินบันดาลให้ แต่เราเองนี่แหละที่สร้างเหตุไว้ และเราต้องชดใช้ เหมือนเราเป็นหนี้เราก็ต้องชดใช้ ตราบใดที่ใช้หนี้ยังไม่หมด เจ้าหนี้เขาก็ต้องตามทวงอยู่อย่างนั้นไม่หยุดหย่อน
เมื่อพิจารณาได้ดังนี้แล้ว ก็หันมาขัดเกลาจิตใจตนเอง ให้เป็นผู้มีจิตใจใสสะอาด กำจัดกิเลสทั้งหลายอันเป็นดุจจอมมารที่บันดาลใจเราให้กระทำความชั่วอันมีวิบากเป็นทุกข์ หันมาบำเพ็ญสุจริตกรรมอันมีอานิสงส์เป็นสุขย่อมจะดีกว่าเป็นไหนไหน.
สารบัญ พุทธศาสนสุภาษิต
- อัตตวรรค หมวดตน
- อัปปมาทวรรค หมวดความไม่ประมาท
- กัมมวรรค หมวดกรรม
- กิเลสวรรค หมวดกิเลส
- โกธวรรค หมวดความโกรธ
- ขันติวรรค หมวดความอดทน
- จิตตวรรค หมวดจิต
- ชยวรรค หมวดความชนะ
- ทานวรรค หมวดทาน
- ทุกขวรรค หมวดทุกข์
- ธัมมวรรค หมวดธรรม
- ปกิณกวรรค หมวดเบ็ดเตล็ด
- ปัญญาวรรค หมวดปัญญา
- ปมาทวรรค หมวดความประมาท
- ปาปวรรค หมวดบาป
- ปุคคลวรรค หมวดบุคคล
- ปุญญวรรค หมวดบุญ
- มัจจุวรรค หมวดความตาย
- มิตตวรรค หมวดมิตร
- ยาจนาวรรค หมวดการขอ
- ราชวรรค หมวดพระราชา
- วาจาวรรค หมวดวาจา
- วิริยวรรค หมวดความเพียร
- เวรวรรค หมวดเวร
- สัจจวรรค หมวดความสัตย์
- สติวรรค หมวดสติ
- สัทธาวรรค หมวดศรัทธา
- สันตุฏฐิวรรค หมวดสันโดษ
- สมณวรรค หมวดสมณะ
- สามัคคีวรรค หมวดสามัคคี
- สีลวรรค หมวดศีล
- สุขวรรค หมวดความสุข
- เสวนาวรรค หมวดการคบหา