สตฺโถ ปวสโต มิตฺตํ “หมู่เกวียน เป็นมิตรของคนเดินทาง”

สตฺโถ ปวสโต มิตฺตํ.

[คำอ่าน : สัด-โถ, ปะ-วะ-สะ-โต, มิด-ตัง]

“หมู่เกวียน เป็นมิตรของคนเดินทาง”

(สํ.ส. 15/50)

ในสมัยพุทธกาลนั้น คนที่เดินทางจำเป็นต้องมีที่พึ่งพาอาศัย ซึ่งที่พึ่งที่ดีก็คือหมู่เกวียน หมายถึงพวกพ่อค้าที่ขนสินค้าไปขายยังต่างเมือง ซึ่งจะมีการคุ้มครองรักษาสินค้าอย่างดี หมู่เกวียนหรือคณะพ่อค้าดังกล่าวจึงเป็นมิตรที่ดีสำหรับคนเดินทาง

ความหมายของสุภาษิตบทนี้ก็คือ การที่เราจะเดินทางไกลนั้น จำเป็นที่จะต้องมีมิตร หรือมีเพื่อนเดินทาง เพราะเมื่อเกิดเหตุไม่ดีอะไรขึ้นมา จะได้ช่วยเหลือกันได้

อย่างไรก็ตาม มิตรก็มีทั้งมิตรที่ดีและมิตรที่ไม่ดี เราพึงเลือกคบเฉพาะมิตรที่ดีคือมิตรที่แนะนำในทางที่ดีเท่านั้น ไม่ควรคบมิตรไม่ดี คือมิตรที่คอยชวนเราไปทำเรื่องเหลวไหลไร้สาระ หรือชักชวนไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข