น หิ เวเรน เวรานิ สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ

น หิ เวเรน เวรานิ สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ.

[คำอ่าน : นะ, หิ, เว-เร-นะ, เว-รา-นิ, สำ-มัน-ตี-ทะ, กุ-ทา-จะ-นัง]

“ในกาลไหน ๆ เวรในโลกนี้ ย่อมระงับด้วยเวรไม่ได้เลย”

(วิ.มหา. 5/336, ม.อุป. 14/297, ขุ.ธ.25/15, ขุ.ชา.ปญฺจก. 27/182)

เวร หมายถึง ความพยาบาทปองร้ายกัน คือบุคคลฝ่ายหนึ่งปองร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง หรือต่างฝ่ายต่างพยาบาทปองร้ายกัน อย่างนี้เรียกว่า เวร

เมื่อความพยายาบาทปองร้ายกันเกิดขึ้น หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า จองเวรจองกรรมกัน ความเดือดร้อนวุ่นวายใจก็ย่อมเกิดขึ้น

ฝ่ายที่พยาบาทปองร้ายคนอื่น ก็ย่อมเดือดร้อนใจ ขุ่นเคืองใจ คิดแต่จะหาวิธีที่จะสร้างความเดือดร้อนฉิบหายให้อีกฝ่าย

ส่วนฝ่ายที่ถูกพยาบาทปองร้าย ก็เดือดร้อนใจ หวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา ว่าอีกฝ่ายจะทำร้ายหรือสร้างความฉิบหายให้แก่ตนเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทั้งสองฝ่ายย่อมมีแต่ความเดือดร้อนใจ อยู่ไม่เป็นสุข มีแต่ความทุกข์คอยรุมเร้าจิตใจอยู่ตลอดเวลา ไม่เป็นอันต้องทำมาหากินหรือสร้างประโยชน์ใด ๆ ให้เกิดขึ้นกับชีวิต

ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า ไม่ว่าในกาลไหน ๆ คือไม่ว่าจะเป็นอดีตที่ผ่านมาหรือในกาลปัจจุบันนี้ก็ตาม ไม่เคยมีเลยที่คนทั้งหลายจะสามารถระงับเวรได้ด้วยการจองเวร.