สมฺมุขา ยาทิสํ จิณฺณํ ปรมฺมุขาปิ ตาทิสํ

สมฺมุขา ยาทิสํ จิณฺณํ ปรมฺมุขาปิ ตาทิสํ.

[คำอ่าน : สำ-มุ-ขา, ยา-ทิ-สัง, จิน-นัง, ปะ-รำ-มุ-ขา-ปิ, ตา-ทิ-สัง]

“ต่อหน้าประพฤติเช่นใด ถึงลับหลังก็ให้ประพฤติเช่นนั้น”

(ส.ส.)

บุคคลที่มีความจริงใจ ต่อหน้าคนอื่นทำตัวเช่นไร แม้ลับหลังเขาก็ทำตัวเช่นนั้น ไม่มีความประพฤติกลับไปกลับมาชนิดที่เรียกว่ากลับกลอก

พุทธศาสนสุภาษิตบทนี้ ท่านสอนให้คนเป็นคนมีความจริงใจ ไม่ใช่ปากอย่างใจอย่าง หรือต่อหน้าอย่างหนึ่ง แต่พอลับหลังแล้วก็อีกอย่างหนึ่ง เหมือนสำนวนที่ว่า ลิงหลอกเจ้า

เพราะคนที่เป็นเช่นนั้น ได้ชื่อว่าเป็นคนไม่จริงใจ ไม่ควรค่าแก่การคบค้าสมาคม เพราะเขาย่อมสามารถหลอกบุคคลที่คบกับเขาได้ทุกเรื่อง ไม่มีความจริงใจให้ใครทั้งนั้น

ดังนั้น พึงฝึกตัวเองให้เป็นคนที่มีความจริงใจต่อคนทั้งหลายทั้งปวง จึงจะเป็นคนที่มีคุณค่าและน่าคบค้าสมาคม และได้รับการยกย่องสรรเสริญจากคนทั้งหลาย นอกจากนั้น ยังได้รับความเชื่อใจจากคนรอบข้างอีกด้วย