กมฺมํ สตฺเต วิภชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย

กมฺมํ สตฺเต วิภชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย.

[คำอ่าน : กำ-มัง, สัด-เต, วิ-พะ-ชะ-ติ, ยะ-ทิ-ทัง, หี-นับ-ปะ-นี-ตะ-ตา-ยะ]

“กรรมย่อมจำแนกสัตว์ คือให้ทรามและประณีต”

(ม.อุป. 14/385)

คำว่า “กรรม” หมายถึง การกระทำ ทั้งทางกาย วาจา และใจ

กรรมนี่แหละเป็นตัวจำแนกสรรพสัตว์บนโลกใบนี้ให้แตกต่างกัน เช่น รวย จน ดำ ขาว หล่อ สวย ขี้เหร่ เป็นต้น ที่เป็นดังนี้ก็เพราะกรรมที่แต่ละคนเคยได้กระทำไว้นั่นเอง

ดังคำที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว คือไม่ว่าเราจะได้กระทำกรรมใดไว้ก็แล้วแต่ เราจะต้องได้รับผลของกรรมนั้นอย่างแน่นอน เมื่อกรรมนั้นให้ผลนั่นแหละ เราจะได้ประสบกับผลต่าง ๆ ตามแต่กรรมฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่วให้ผล

คนที่เกิดมารูปร่างหน้าตาดี ผิวพรรณดี ก็เพราะผลแห่งศีลที่ได้รักษาเป็นอย่างดีส่งผลให้เป็นไป

คนที่เกิดมาขี้ริ้วขี้เหร่ ก็เพราะรักษาศีลไม่ดี ผลแห่งความทุศีลนั้นแหละที่เป็นเหตุให้ขี้ริ้วขี้เหร่

คนที่เกิดมายากจนข้นแค้น ก็เพราะไม่เคยทำบุญทำทาน เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ที่เราท่านทั้งหลายเกิดมาแล้วมีความแตกต่างกันนั้น ก็เป็นเพราะกรรมที่เราทำไว้ต่าง ๆ กันนั่นเอง