วิโมกข์ 3 ประการ

วิโมกข์ แปลว่า ความหลุดพ้น หมายถึง ภาวะที่จิตหลุดพ้นจากอำนาจกิเลส ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเจริญสมาธิ 3 คือ สุญญตสมาธิ อนิมิตตสมาธิ และอัปปณิหิตสมาธิ จัดเป็นความหลุดพ้นในวิปัสสนา แบ่งเป็น 3 ประเภท ตามลักษณะของสมาธิ หรือตามลักษณะการเห็นไตรลักษณ์ข้อที่ให้ถึงความหลุดพ้น คือ

1. สุญญตวิโมกข์

สุญญตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยเห็นความว่างหมดความยึดมั่น ได้แก่ ความหลุดพ้นที่เกิดจากปัญญาพิจารณาเห็นนามรูปโดยความเป็นอนัตตา คือ หลุดพ้นด้วยเห็นอนัตตตาแล้วถอนความยึดมั่นเสียได้ (อาศัยอนัตตานุปัสสนา ถอนอัตตาภินิเวส)

2. อนิมิตตวิโมกข์

อนิมิตตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยไม่ถือนิมิต ได้แก่ ความหลุดพ้นที่เกิดจากปัญญาพิจารณาเห็นนามรูปโดยความเป็นอนิจจัง คือ หลุดพ้นด้วยเห็นอนิจจตา แล้วถอนนิมิตเสียได้ (อาศัยอนิจจานุปัสสนา ถอนวิปัลลาสนิมิต)

3. อัปปณิหิตวิโมกข์

อัปปณิหิตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยไม่ทำความปรารถนา ได้แก่ ความหลุดพ้นที่เกิดจากปัญญาพิจารณาเห็นนามรูปโดยความเป็นทุกข์ คือ หลุดพ้นด้วยเห็นทุกขตา แล้วถอนความปรารถนาเสียได้ (อาศัยทุกขานุปัสสนา ถอนตัณหาปณิธิ)