ปฏิปทา 4 ประการ

ปฏิปทา หมายถึง แนวปฏิบัติ ทางดำเนิน การปฏิบัติที่เป็นทางดำเนินให้ถึงจุดหมายคือความหลุดพ้นหรือความสิ้นอาสวะ จำแนกตามความยากลำบากของการปฏิบัติและความช้าเร็วของการบรรลุเป้าหมาย มี 4 ลักษณะ ดังนี้

1. ทุกฺขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา

ทุกฺขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า หมายถึง ผู้ปฏิบัติที่มีราคะ โทสะ โมหะ แรงกล้า ต้องเสวยทุกข์โทมนัสเนื่องจากราคะ โทสะ โมหะนั้นอยู่เนืองๆ หรือเจริญกรรมฐานที่มีอารมณ์ไม่น่าชื่นใจ เช่น อสุภะ เป็นต้น อีกทั้งอินทรีย์ก็อ่อน จึงบรรลุโลกุตตรมรรคล่าช้า

2. ทุกฺขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา

ทุกฺขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว หมายถึง ผู้ปฏิบัติที่มีราคะ โทสะ โมหะแรงกล้า ต้องเสวยทุกข์โทมนัสเนื่องจากราคะ โทสะ โมหะนั้นอยู่เนืองๆ หรือเจริญกรรมฐานที่มีอารมณ์ไม่น่าชื่นใจ เช่น อสุภะ เป็นต้น แต่มีอินทรีย์แก่กล้า จึงบรรลุโลกุตตรมรรคได้อย่างเร็วไว

3. สุขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา

สุขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า หมายถึง ผู้ปฏิบัติที่มีราคะ โทสะ โมหะไม่แรงกล้า ไม่ต้องเสวยทุกข์โทมนัสเนื่องจากราคะ โทสะ โมหะนั้นเนืองนิตย์ หรือเจริญสมาธิได้ฌาน 4 อันเป็นสุขประณีต แต่มีอินทรีย์อ่อน จึงบรรลุโลกุตตรมรรคล่าช้า

4. สุขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา

สุขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา ปฏิบัติสะดวก ทั้งบรรลุได้เร็ว หมายถึง ผู้ปฏิบัติที่มีราคะ โทสะ โมหะไม่แรงกล้า ไม่ต้องเสวยทุกข์โทมนัสเนื่องจากราคะ โทสะ โมหะนั้นเนืองนิตย์ หรือเจริญสมาธิได้ฌาน 4 อันเป็นสุขประณีต อีกทั้งมีอินทรีย์แก่กล้า จึงบรรลุโลกุตตรมรรคเร็วไว