น ตํ กมฺมํ กตํ สาธุ ยํ กตฺวา อนุตปฺปติ

น ตํ กมฺมํ กตํ สาธุ ยํ กตฺวา อนุตปฺปติ.

[คำอ่าน : นะ, ตัง, กำ-มัง, กะ-ตัง, สา-ทุ, ยัง, กัด-ตะ-วา, อะ-นุ-ตับ-ปะ-ติ]

“ทำกรรมใดแล้วร้อนใจภายหลัง กรรมที่ทำแล้วนั้นไม่ดี”

(สํ.ส. 15/81, ขุ.ธ. 25/23)

กรรมทุกอย่างที่เราได้ทำลงไปแล้ว ล้วนแต่จะต้องตามให้ผลกับเราในภายหลังอย่างแน่นอน จะให้ผลดีหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า กรรมที่ทำไปนั้นดีหรือไม่ดี

กรรมที่ทำไปแล้วให้ผลในภายหลังเป็นความเดือดเนื้อร้อนใจคือกรรมชั่ว อันได้แก่กรรมฝ่ายทุจริต ๓ ประการ คือ กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต

ผู้ใดกระทำทุจริตทั้ง ๓ ประการดังกล่าว ผู้นั้นย่อมจะได้รับความเดือดร้อนในภายหลัง เพราะผลของกรรมนั้นตามให้ผล ตามแผดเผาให้ต้องได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน

ดังนั้น หากไม่ต้องการความเดือดร้อน ก็ไม่ควรทำกรรมที่เป็นทุจริตดังกล่าวนั้นเลย ในทางตรงกันข้าม ควรหันมาสร้างกรรมที่เป็นฝ่ายสุจริต อันประกอบด้วย กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต อันจะเป็นกรรมที่อำนวยผลดีให้เรา ทั้งในภพนี้และภพหน้า ย่อมจะเป็นการดีกว่า ดีกว่าจะไปทำกรรมชั่ว แล้วได้รับความเดือดร้อนเป็นผลในภายหลัง