ปญฺญา นตฺถิ อฌายโต “ปัญญา ไม่มีแก่ผู้ไม่พินิจ”

ปญฺญา นตฺถิ อฌายโต.

[คำอ่าน : ปัน-ยา, นัด-ถิ, อะ-ชา-ยะ-โต]

“ปัญญา ไม่มีแก่ผู้ไม่พินิจ”

(ขุ.ธ. 25/65)

การพินิจ คือการพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง ถ้ามีปัญหา ก็พิจารณาปัญหาให้เห็นต้นสายปลายเหตุตามความเป็นจริง เพื่อที่จะหาวิธีแก้ปัญหาให้ได้ เป็นต้น เมื่อได้พินิจพิจารณาปัญหาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ย่อมเกิดปัญญาขึ้นมา สามารถหาวิธีแก้ปัญหานั้น ๆ ให้หมดไปได้อย่างราบรื่น

เมื่อว่าโดยทางธรรม เมื่อเราได้พิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ ปัญญา คือความรู้ชัด ความรอบรู้ในสิ่งนั้น ๆ ตามความเป็นจริง เราจะเห็นธรรมดาของสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง รู้ซึ้งถึงสรรพสิ่งตามที่มันเป็นจริง ๆ ไม่ใช่รู้อย่างสมมติ รู้อย่างงมงาย หรือรู้ไม่จริง

เมื่อเราพินิจพิจารณาจนเกิดปัญญารอบรู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริงแล้ว เราจะสามารถใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ได้แบบไม่มีความทุกข์ เพราะอยู่แบบเข้าใจ ใช้ชีวิตแบบเข้าใจ ใช้ชีวิตแบบผู้มีปัญญา ไม่วิ่งตามโลก ไม่หลงไปกับอารมณ์ของโลก นั่นคือลักษณะของผู้มีปัญญา

แต่ปัญญาดังกล่าวจะเกิดขึ้นมาได้ ต้องอาศัยความเพียรในการพินิจพิจารณาอย่างมีเหตุมีผล ต้องใช้เวลาและความเพียรอย่างแรงกล้า จึงจะเกิดปัญญาเช่นนั้นได้ หากขาดการพินิจพิจารณาเสียแล้ว ปัญญาย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้เลย