นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส “ความพินิจ ไม่มีแก่คนไร้ปัญญา”

นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส.

[คำอ่าน : นัด-ถิ, ชา-นัง, อะ-ปัน-ยัด-สะ]

“ความพินิจ ไม่มีแก่คนไร้ปัญญา”

(ขุ.ธ. 25/65)

ความพินิจ หมายถึง การใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองทุกสิ่งทุกอย่างให้รู้ให้เข้าใจลึกซึ้งตามความเป็นจริง ทำให้เข้าใจปัญหาอย่างทะลุปรุโปร่ง มองปัญหาออกตามที่มันเป็น

การพินิจนั้นต้องอาศัยปัญญาคือความรอบรู้ ได้แก่ความรอบรู้หนทางแห่งความเสื่อม หนทางแห่งความเจริญ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ และความรอบรู้ในศาสตร์ด้านต่าง ๆ

ดังนั้น หากบุคคลไม่มีปัญญาเสียแล้ว การพินิจพิจารณาย่อมไม่มีตามไปด้วย เมื่อไม่มีการพินิจพิจารณา ย่อมไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นได้ การใช้ชีวิตของเขาย่อมเป็นไปเพื่อความทุกข์ หาความสุขมิได้เลย

เมื่อว่าโดยทางธรรม คนที่ขาดปัญญาในทางธรรม คือคนที่มองไม่เห็นความเป็นจริงของสรรพสิ่งอย่างที่มันเป็น ย่อมไม่สามารถจะพินิจพิจารณาได้ว่า สรรพสิ่งตกอยู่ภายใต้อำนาจของพระไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างไร เมื่อไม่สามารถพินิจพิจารณาได้ ก็ย่อมจะตกอยู่ในวังวนของความทุกข์ อันเกิดจากความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งทั้งหลาย ไม่สามารถจะหลุดพ้นได้ เพราะขาดปัญญา