ผู้มีความเพียรไม่พึงนอนมาก พึงเสพธรรมเครื่องตื่น ฯลฯ

นิทฺทํ น พหุลีกเรยฺย
ชาคริยํ ภเชยฺย อาตาปี
ตนฺทึ มายํ หสฺสํ ขิฑฺฑํ
เมถุนํ วิปฺปชเห สวิภูสํ.

[คำอ่าน]

นิด-ทัง, นะ, พะ-หุ-ลี-กะ-ไร-ยะ
ชา-คะ-ริ-ยัง, พะ-ไช-ยะ, อา-ตา-ปี
ตัน-ทิง, มา-ยัง, หัด-สัง, ขิด-ทัง
เม-ถุ-นัง, วิบ-ปะ-ชะ-เห, สะ-วิ-พู-สัง

[คำแปล]

“ผู้มีความเพียรไม่พึงนอนมาก พึงเสพธรรมเครื่องตื่น พึงละความเกียจคร้าน มายา ความร่าเริง การเล่น และเมถุน พร้อมเครื่องประดับเสีย.”

(พุทฺธ) ขุ.สุ. 25/515., ขุ.มหา. 29/457, 460.

การนอน เป็นการพักผ่อนที่ดี มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายต้องมีการนอนพักผ่อนในแต่ละวัน สังขารร่างกายจึงจะดำรงอยู่ได้โดยไม่มีปัญหา แต่การนอนนั้นก็ต้องพอเหมาะพอดี นอนมากเกินไปก็ไม่ดี นอนน้อยเกินไปก็ไม่ดี ไม่นอนเลยก็ยิ่งไม่ดีใหญ่

ส่วนความเพียรก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องมี เพราะในชีวิตประจำวัน เราจะต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ ผู้บำเพ็ญธรรมก็ต้องปฏิบัติกิจกรรมอันเป็นหนทางออกจากทุกข์ เช่น การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เป็นต้น ส่วนผู้ครองเรือนทั้งหลายก็ต้องทำกิจกรรมอันเป็นไปเพื่อการเลี้ยงชีพ เช่น การประกอบการงานเพื่อหาเงินหาทอง เป็นต้น

คำว่า ความเพียร ในพุทธภาษิตบทนี้ หมายเอาความเพียรในอันที่จะออกจากทุกข์ คือความเพียรของผู้ประพฤติธรรมเพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์เป็นสำคัญ

ในการปฏิบัติสมถกรรมฐานหรือวิปัสสนากรรมฐานนั้น ความเพียรเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการกระทำที่สุดแห่งทุกข์ มิใช่วิสัยของผู้ขาดความเพียร แต่เป็นวิสัยของผู้มีความเพียร คือเป็นสิ่งที่ผู้มีความเพียรเท่านั้นที่จะไขว่คว้าเอาไว้ได้

ผู้มีความเพียรในการบำเพ็ญสมณธรรมหรือการปฏิบัติกรรมฐานนั้น จะไม่นอนมาก คือนอนแต่พอดี นอนเพียงเพื่อใหร่างกายได้พักผ่อนเท่านั้น จะไม่นอนด้วยอำนาจกิเลส คือไม่นอนเพื่อสนองกิเลส เช่น นอนเพราะขี้เกียจ เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่า นอนเพื่อสนองกิเลส

เมื่อบุคคลนอนแต่พอดี ใช้เวลาส่วนใหญ่ปรารภความเพียรอยู่เช่นนี้ ชื่อว่า เป็นผู้เสพธรรมเครื่องตื่นอยู่เสมอ ละความเกียจคร้านเสียได้

นอกจากนี้ ยังต้องละมายาเสียให้ได้ด้วย คือต้องไม่เป็นคนเจ้าเล่ห์แสนกล ชอบหาข้ออ้างในอันที่จะหลบหลีกหรือละทิ้งการบำเพ็ญเพียร ต้องละความร่าเริง คือไม่ยินดีไปกับเรื่องสนุกสนานเยี่ยงชาวโลกทั้งหลาย ไม่ยินดีในการเล่นสนุกอย่างที่ชาวบ้านเขาเล่นกัน ละความยินดีในเมถุนพร้อมทั้งเครื่องประดับ คือไม่ยินดีในการมีคู่ ไม่ยินดีในการครองเรือน ยินดีแต่ในการประพฤติพรหมจรรย์เท่านั้น

เมื่อทำได้ดังนี้ ย่อมสามารถบรรลุเป้าหมายแห่งการบำเพ็ญสมณธรรมได้.