
ปรวชฺชานุปสฺสิสฺส…..….นิจฺจํ อุชฺฌานสญฺญิโน
อาสวา ตสฺส วฑฺฒนฺติ….อารา โส อาสวกฺขยา.
[คำอ่าน]
ปะ-ระ-วัด-ชา-นุ-ปัด-สิด-สะ….นิด-จัง, อุด-ชา-นะ-สัน-ยิ-โน
อา-สะ-วา, ตัด-สะ, วัด-ทัน-ติ…อา-รา, โส, อา-สะ-วัก-ขะ-ยา
[คำแปล]
“คนที่เห็นแต่โทษผู้อื่น คอยแต่เพ่งโทษนั้น อาสวะก็เพิ่มพูน เขายังไกลจากความสิ้นอาสวะ.”
(พุทฺธ) ขุ.ธ. 25/49.
คนทุกคนมีความผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้น มีข้อบกพร่องด้วยกันทั้งนั้น ในบรรดาปุถุชนทั้งหลาย ไม่มีใครเลยที่ไม่เคยทำความผิด ไม่เคยทำสิ่งที่ผิด ทุกคนเคยผ่านกันมาทั้งนั้น คนอื่นก็เคยผิดพลาด ตัวเราเองก็เคยผิดพลาด
ความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งของมนุษย์เราก็คือ การคอยเพ่งโทษคนอื่น คือคอยจ้องจับผิดคนอื่น คอยสอดส่ายหาความบกพร่องของคนอื่น เมื่อรู้แล้วเห็นแล้วก็เอามานินทาเขา กล่าวโทษเขา ข้อนี้ถือว่าเป็นความผิดพลาดอย่างมาก
เพราะความผิดของคนอื่น ไม่สามารถสร้างประโยชน์ใด ๆ ให้เราได้เลย การจ้องจับผิดคนอื่นยิ่งเป็นการเสียเวลาเปล่า
เพราะในขณะที่เราจ้องจับผิดคนอื่นอยู่นั้น เป็นการใช้เวลาในช่วงนั้น ๆ ไปโดยไม่ได้สร้างประโยชน์ใด ๆ ให้ตนเองเลย ประโยชน์ในการประกอบกิจการงานต่าง ๆ ก็ไม่ได้ทำ ประโยชน์ในการบำเพ็ญวิปัสสนาเพื่อกำจัดกิเลสอาสวะทั้งหลายก็ไม่ได้ทำ เรียกได้ว่า เสียเวลาไปกับเรื่องของคนอื่นโดยไม่เกิดประโยชน์กับตัวเองเลย นอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังก่อโทษอีกด้วย
พุทธศาสนาสอนให้คนเพ่งโทษตนเอง ไม่ใช่เพ่งโทษคนอื่น คือให้คอยสอดส่องหาข้อบกพร่องของตนเอง แล้วนำข้อบกพร่องนั้นมาแก้ไข นิสัยของเราเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดี ขยันหรือขี้เกียจ เป็นคนมีเมตตาหรือเป็นคนมักโกรธ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่หรือขี้ตระหนี่ เป็นต้น แล้วแก้ไขข้อบกพร่องนั้น ๆ
ตลอดถึงการเฝ้าดูกิเลสของตนเอง ว่าตนเองเป็นคนมีกิเลสระดับไหน และเร่งปฏิบัติขัดเกลาตนเพื่อกำจัดกิเลสเหล่านั้นเสียให้หมดไป เพราะกิเลสนี่แหละถือว่าเป็นข้อบกพร่องสูงสุดของชีวิตมนุษย์ ความผิดทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้น ก็มีต้นสายปลายเหตุมาจากกิเลสทั้งสิ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องคอยสังเกตตัวเองและหมั่นปฏิบัติขัดเกลาตนให้เป็นคนมีกิเลสเบาบาง จนถึงขั้นเป็นคนปราศจากกิเลสให้ได้ในที่สุด
หากสามารถเพ่งโทษตนเองและคอยปฏิบัติขัดเกลาตนเองได้อย่างนี้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง กิเลสอาสวะทั้งหลายย่อมเบาบางลง และจะต้องหมดสิ้นไปในที่สุดอย่างแน่นอน
แต่ผู้ใดที่คอยเพ่งแต่โทษคนอื่น คอยจับผิดแต่คนอื่น ไม่พิจารณาดูตนเองเลย กิเลสของผู้นั้นย่อมพอกพูนขึ้นตามลำดับ หนาขึ้นตามลำดับ ไม่สามารถทำให้เบาบางลงได้ เพราะมัวแต่เสียเวลาอยู่กับความผิดพลาดของผู้อื่น เขาย่อมห่างไกลจากความสิ้นอาวสะ ภพชาติยังอีกยาวนาน ไม่ใช่วิถีที่บัณฑิตชนพึงดำเนิน.
สารบัญ พุทธศาสนสุภาษิต
- อัตตวรรค หมวดตน
- อัปปมาทวรรค หมวดความไม่ประมาท
- กัมมวรรค หมวดกรรม
- กิเลสวรรค หมวดกิเลส
- โกธวรรค หมวดความโกรธ
- ขันติวรรค หมวดความอดทน
- จิตตวรรค หมวดจิต
- ชยวรรค หมวดความชนะ
- ทานวรรค หมวดทาน
- ทุกขวรรค หมวดทุกข์
- ธัมมวรรค หมวดธรรม
- ปกิณกวรรค หมวดเบ็ดเตล็ด
- ปัญญาวรรค หมวดปัญญา
- ปมาทวรรค หมวดความประมาท
- ปาปวรรค หมวดบาป
- ปุคคลวรรค หมวดบุคคล
- ปุญญวรรค หมวดบุญ
- มัจจุวรรค หมวดความตาย
- มิตตวรรค หมวดมิตร
- ยาจนาวรรค หมวดการขอ
- ราชวรรค หมวดพระราชา
- วาจาวรรค หมวดวาจา
- วิริยวรรค หมวดความเพียร
- เวรวรรค หมวดเวร
- สัจจวรรค หมวดความสัตย์
- สติวรรค หมวดสติ
- สัทธาวรรค หมวดศรัทธา
- สันตุฏฐิวรรค หมวดสันโดษ
- สมณวรรค หมวดสมณะ
- สามัคคีวรรค หมวดสามัคคี
- สีลวรรค หมวดศีล
- สุขวรรค หมวดความสุข
- เสวนาวรรค หมวดการคบหา