พระอริยเจ้าย่อมสรรเสริญผู้ฆ่าความโกรธ ซึ่งมีโคนเป็นพิษ ปลายหวาน ฯลฯ

โกธสฺส วิสมูลสฺส     มธุรคฺคสฺส พฺราหฺมณ
วธํ อริยา ปสํสนฺติ     ตญฺหิ เฉตฺวา น โสจติ.

[คำอ่าน]

โก-ทัด-สะ, วิ-สะ-มู-ลัด-สะ……มะ-ทุ-รัก-คัด-สะ, พราม-มะ-นะ
วะ-ทัง, อะ-ริ-ยา, ปะ-สัง-สัน-ติ…..ตัน-หิ, เฉด-ตะ-วา, นะ, โส-จะ-ติ

[คำแปล]

“ดูก่อนพราหมณ์ พระอริยเจ้าย่อมสรรเสริญผู้ฆ่าความโกรธ ซึ่งมีโคนเป็นพิษ ปลายหวาน เพราะคนตัดความโกรธนั้นได้แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก.”

(พุทฺธ) สํ.ส. 15/236.

ความโกรธ คือ ความเกรี้ยวกราด ความขุ่นเคือง เกิดขึ้นเมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจหรือคนที่ไม่ชอบใจ เช่น เจอคนที่เคยมีเรื่องขุ่นข้องหมองใจกัน ก็ทำให้เกิดความโกรธ ได้ยินคนพูดจาไม่เข้าหูไม่ถูกใจ ก็เกิดความโกรธ เป็นต้น

เมื่อความโกรธเกิดขึ้น ความโกรธจะครอบงำจิตใจ สั่งการให้บุคคลกระทำการตามอำนาจของมัน เช่น สั่งให้ด่าเขาบ้าง สั่งให้ทำร้ายเขาบ้าง สั่งให้ฆ่าเขาบ้าง เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่กระทำด้วยอำนาจความโกรธ หรือการกระทำทั้งหลายที่มีมูลเหตุมาจากความโกรธ ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ดีทั้งสิ้น

เมื่อบุคคลกระทำการตามอำนาจของความโกรธอย่างนี้ สุดท้าย จะได้รับผลจากการกระทำอันเกิดจากความโกรธนั้น ซึ่งย่อมเป็นผลที่ไม่ดีอย่างแน่นอน หนักบ้างเบาบ้าง ก็ขึ้นอยู่ที่กำลังของการกระทำนั้น ๆ

ความโกรธ ท่านว่ามีโคนเป็นพิษ มีปลายหวาน ความหมายคือ เมื่อบุคคลกระทำกรรมตามอำนาจของความโกรธ ในขณะที่ทำจะมีความรู้สึกสะใจ รู้สึกได้ระบาย แต่เมื่อทำไปแล้วจะต้องมาเสียใจภายหลัง เมื่อโทษหรือวิบากของการกระทำอันเกิดจากความโกรธนั้นให้ผล

อริยชนทั้งหลายไม่สรรเสริญความโกรธ หรือบุคคลผู้มักโกรธ แต่สรรเสริญบุคคลผู้ตัดความโกรธได้ หรือกำจัดความโกรธเสียได้ในเมื่อมันเกิดขึ้น

คุณธรรมที่จะใช้กำจัดความโกรธได้นั้น ได้แก่ พรหมวิหารธรรมทั้ง 4 ข้อ คือ

เมตตา คือความคิดปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข หากบุคคลเจริญเมตตาอยู่เนือง ๆ ปรารถนาให้ผู้อื่นสัตว์อื่นมีความสงบสุข ย่อมจะป้องกันความโกรธได้ในเบื้องต้น และเมื่อประสบกับภาวะที่ทำให้เกิดความโกรธ เมื่อมานึกถึงเมตตาธรรมที่ตนบำเพ็ญ ระลึกได้ว่าความโกรธนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อเมตตา ไม่เหมาะกับตน ก็จะบรรเทาความโกรธลงได้

กรุณา คือความคิดปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ หากบุคคลเจริญกรุณาธรรมอยู่เนือง ๆ ปรารถนาให้ผู้อื่นสัตว์อื่นพ้นจากความทุกข์ยากลำบากทั้งหลาย ย่อมจะป้องกันความโกรธได้ในเบื้องต้น และเมื่อประสบกับภาวะที่ทำให้เกิดความโกรธขึ้นมา เขาระลึกถึงกรุณาธรรมที่ตนบำเพ็ญ นึกขึ้นได้ว่าความโกรธนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อความกรุณา ไม่เหมาะกับตนเลย ก็จะบรรเทาความโกรธลงได้

มุทิตา คือความพลอยยินดีในเมื่อผู้อื่นได้ดีมีสุข หากบุคคลเจริญมุทิตาธรรมอยู่เนือง ๆ มักจะยินดีไปกับผู้อื่นอยู่เสมอ มุทิตานี้ย่อมจะป้องกันความโกรธได้ในเบื้องต้น และเมื่อประสบกับภาวะที่ทำให้เกิดความโกรธขึ้นมา เขาระลึกถึงมุทิตาธรรมที่ตนบำเพ็ญ นึกขึ้นได้ว่าความโกรธนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อมุทิตา ไม่เหมาะกับตนเลย ก็จะบรรเทาความโกรธลงได้

อุเบกขา คือความวางใจเป็นกลาง ๆ ไม่ยินดีในยินร้ายในสภาวะใด ๆ เข้าใจธรรมดาของสิ่งทั้งปวง ผู้ที่บำเพ็ญอุเบกขาธรรมเป็นประจำ เข้าใจสิ่งทั้งหลายที่เกิดและดับอยู่เนืองนิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา เข้าใจกฎแห่งกรรม เข้าใจหลักเหตุและผล เขาจะไม่ยินดียินร้ายกับสภาวะใด ๆ เมื่อไม่มีความยินดียินร้าย ความโกรธก็เป็นอันเกิดขึ้นไม่ได้

หากบุคคลบำเพ็ญพรหมวิหารธรรมทั้ง 4 ประการนี้อยู่เนือง ๆ เขาย่อมจะป้องกันและกำจัดความโกรธเสียได้ เมื่อไม่มีความโกรธคือกำจัดความโกรธเสียได้แล้ว ก็ไม่ต้องประสบกับความเศร้าโศกเสียใจอันจะเกิดจากการกระทำกรรมชั่วที่เป็นไปตามอำนาจของความโกรธอีกต่อไป.