ธรรม 3 ประการ

ธรรม คือ สภาวะหรือปรากฏการณ์ที่มีอยู่จริงตามธรรมชาติ จำแนกเป็น 3 ประเภท คือ

1. กุศลธรรม

กุศลธรรม ธรรมที่เป็นกุศล คือ สภาวะที่ฉลาด ดีงาม เอื้อแก่สุขภาพจิต เกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจ ได้แก่ กุศลมูล 3 (อโลภะ อโทสะ อโมหะ) นามขันธ์ 4 ที่สัมปยุตด้วยกุศลมูล และ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่มีกุศลมูลเป็นสมุฏฐาน กล่าวสั้น ๆ คือ กุศลในภูมิ 4

2. อกุศลธรรม

อกุศลธรรม ธรรมที่เป็นอกุศล คือ สภาวะที่ตรงกันข้ามกับกุศลคือไม่ฉลาด ได้แก่ อกุศลมูล 3 (โลภะ โทสะ โมหะ) กิเลสอันมีฐานเดียวกับอกุศลมูล นามขันธ์ 4 ที่สัมปยุตด้วยอกุศลมูล และ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่มีอกุศลมูลเป็นสมุฏฐาน กล่าวสั้น ๆ คือ อกุศลจิตตุปบาท 12

3. อัพยากตธรรม

อัพยากตธรรม ธรรมที่เป็นอัพยากฤต คือ ธรรมที่เป็นกลาง ๆ ชี้ขาดลงมิได้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล ได้แก่ นามขันธ์ 4 ที่เป็นวิบากแห่งกุศลและอกุศล เป็นกามาวจรก็ตาม รูปาวจรก็ตาม อรูปาวจรก็ตาม โลกุตตระก็ตาม อย่างหนึ่ง ธรรมทั้งหลายที่เป็นกิริยา มิใช่กุศล มิใช่อกุศล มิใช่วิบากแห่งกรรม อย่างหนึ่ง รูปทั้งปวง อย่างหนึ่ง อสังขตธาตุ คือ นิพพาน อย่างหนึ่ง กล่าวสั้นๆ คือ วิบากในภูมิ 4, กิริยาอัพยากฤตในภูมิ 3, รูป และนิพพาน