อาวาสิกธรรม 5 ประการ (หมวดที่ 7)

อาวาสิกธรรม คือ ธรรมของภิกษุผู้อยู่ประจำวัด แปลถือความมาใช้ให้เหมาะกับปัจจุบันว่า คุณสมบัติของเจ้าอาวาส หมวดที่ 7 ประเภทมีความสุขความเจริญดุจได้รับเชิญขึ้นไปอยู่ในสวรรค์ อีกหมวดหนึ่ง มี 5 ประการ คือ

1. พิจารณาใคร่ครวญโดยรอบคอบแล้ว จึงกล่าวตำหนิติเตียนบุคคลที่ควรตำหนิติเตียน

เจ้าอาวาส ย่อมมีหน้าที่ต้องปกครองพระภิกษุสามเณรทั้งปวงที่อาศัยอยู่ภายในวัด ธรรมดาคนอยู่ร่วมกันหมู่มาก ย่อมมีทั้งคนดีและคนไม่ดี มีทั้งคนดื้อและคนว่าง่าย ในสังคมของพระภิกษุสามเณรก็เช่นเดียวกัน พระเณรที่หัวดื้อหรือเกเรก็ย่อมมีบ้างเป็นธรรมดา จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสที่จะต้องกล่าวตำหนิติเตียนพระภิกษุสามเณรที่มีความประพฤติไม่ดี ไม่อยู่ในร่องในรอยบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและไม่เป็นการทำลายศรัทธาของญาติโยม

2. พิจารณาใคร่ครวญโดยรอบคอบแล้ว จึงกล่าวยกย่องสรรเสริญบุคคลที่ควรยกย่องสรรเสริญ

นอกจากการตำหนิติเตียนพระภิกษุสามเณรที่ประพฤติไม่ดีแล้ว สำหรับภิกษุสามเณรที่มีความประพฤติดี มีกิริยาเรียบร้อย สร้างคุณประโยชน์แก่วัดวาอาราม เจ้าอาวาสก็พึงกล่าวยกย่องสรรเสริญบ้าง เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้พระภิกษุสามเณรที่มีความประพฤติดีน่าสรรเสริญเหล่านั้นมีกำลังใจที่จะรักษาพระธรรมวินัยต่อไป

3. ไม่มีอาวาสมัจฉริยะ

ไม่มีอาวาสมัจฉริยะ คือ ไม่ตระหนี่หวงแหนที่อยู่อาศัย เมื่อมีภิกษุอาคันตุกะเดินทางมาจากแดนไกลมาขอพักอาศัย ผู้เป็นเจ้าอาวาสไม่พึงหวงแหนเสนาสนะ พึงมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่อยู่อาศัยสำหรับพักค้างแรมแก่ภิกษุอาคันตุกะนั้นตามสมควร

4. ไม่มีกุลมัจฉริยะ

ไม่มีกุลมัจฉริยะ คือ ไม่ตระหนี่หวงแหนตระกูลอุปัฏฐาก การหวงแหนตระกูลอุปัฏฐากเป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งปวงไม่พึงกระทำ ตระกูลอุปัฏฐากเหล่านั้นย่อมมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะถวายการอุปัฏฐากภิกษุรูปอื่น ๆ ที่ตนศรัทธาเลื่อมใสได้โดยไม่มีข้อยกเว้นหรือข้อจำกัดใด ๆ การที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งหวงแหนตระกูลอุปัฏฐากนั้น ย่อมเป็นการแสดงความเห็นแก่ตัวของตนอย่างหนึ่ง เป็นการตัดโอกาสของตระกูลอุปัฏฐากในการบำเพ็ญบุญให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีกประการหนึ่ง ดังนั้น การหวงแหนตระกูลอุปัฏฐากจึงเป็นสิ่งที่ภิกษุไม่พึงกระทำ

5. ไม่มีลาภมัจฉริยะ

ไม่มีลาภมัจฉริยะ คือ ไม่ตระหนี่หวงแหนลาภ ลาภที่ภิกษุทั้งหลายได้มานั้น ไม่ได้เกิดจากการทำงานหาเลี้ยงชีพ แต่เกิดจากศรัทธาของประชาชนทั้งหลายที่มีต่อพระรัตนตรัย ไม่ใช่เพราะการลงทุนลงแรงของภิกษุรูปนั้น ๆ อีกทั้งความตระหนี่เป็นกิเลสตัวฉกาจที่จะต้องกำจัดเสียให้สิ้น ดังนั้น การตระหนี่หวงแหนลาภจึงเป็นสิ่งที่ภิกษุไม่พึงกระทำ