อปฺปมตฺโต อุโภ อตฺเถ อธิคฺคณฺหาติ ปณฺฑิโต

อปฺปมตฺโต อุโภ อตฺเถ อธิคฺคณฺหาติ ปณฺฑิโต.

[คำอ่าน : อับ-ปะ-มัด-โต, อุ-โพ, อัด-เถ, อะ-ทิก-คัน-หา-ติ, ปัน-ทิ-โต]

“บัณฑิตผู้ไม่ประมาท ย่อมได้รับประโยชน์ทั้งสอง”

(สํ.ส. 15/126, ขุ.อิติ. 25/242, องฺ.ปญฺจก. 22/53)

คำว่า “ประโยชน์ทั้งสอง” หมายถึง ประโยชน์ในโลกนี้ และประโยชน์ในโลกหน้า

ประโยชน์ในโลกนี้ คือการได้รับการยกย่องนับถือ ความสุขความเจริญ การเป็นอยู่ดี เป็นต้น ที่สามารถเห็นได้ในขณะยังมีชีวิตอยู่

ประโยชน์ในโลกหน้า คือการได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดี และมีความสุขความเจริญในภพภูมินั้น ๆ

ผู้ที่ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต หมั่นสั่งสมอบรมคุณงามความดีอยู่เสมอ ย่อมจะได้รับประโยชน์ทั้งสองประการดังกล่าวมาแล้ว

คือเมื่อไม่ประมาทในการบำเพ็ญทิฏฐธัมมิกัตถะ อันเป็นประโยชน์ในโลกนี้ ประกอบด้วย การขยันประกอบการงาน การรู้จักรักษาทรัพย์สินมิให้สูญเปล่า การรู้จักเลือกคบกัลยาณมิตร และการเลี้ยงชีวิตโดยสมควร ประโยชน์ในโลกนี้ก็ไม่เสีย แถมยังสมบูรณ์เพิ่มพูลอีกด้วย

และไม่ประมาทในการบำเพ็ญสัมปรายิกัตถะ อันเป็นประโยชน์ในโลกหน้า คือ ฝึกตนให้เป็นผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา รักษาศีลให้สมบูรณ์ รู้จักเสียสละช่วยเหลือผู้อื่นและส่วนรวม และหมั่นเจริญปัญญาภาวนา ประโยชน์ในโลกหน้าเขาก็ไม่พลาด เพราะไม่ประมาท ได้บำเพ็ญไว้อย่างดีแล้วนั่นเอง