โยคะ 4 ประการ

โยคะ คือ สภาวะอันประกอบสัตว์ไว้ในภพ หรือผูกกรรมไว้กับวิบาก จัดเป็นกิเลสอย่างละเอียด มี 4 ประการ คือ

1. กามโยคะ

กามโยคะ โยคะคือกาม ได้แก่ กิเลสคือความใคร่ความปรารถนาที่นอนนิ่งอยู่ในสันดาน ไม่แสดงตัว ต่อเมื่อได้ประสบกับอารมณ์คือกามคุณห้า อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่น่าพอใจ กามโยคะตัวนี้ก็จะแสดงตัวออกมา ไหลซึมไปย้อมใจให้เกิดความใคร่ความพอใจ ยินดี อยากได้มาครอบครอง

2. ภวโยคะ

ภวโยคะ โยคะคือภพ ได้แก่ กิเลสคือความอยากมีอยากเป็น ในฐานะหรือภาวะอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น อยากเป็นดารา อยากเป็นนักร้อง อยากเป็นเศรษฐี อยากมีเงินทอง อยากมีรถหรู เป็นต้น

3. ทิฏฐิโยคะ

ทิฏฐิโยคะ โยคะคือทิฏฐิ ได้แก่ กิเลสคือความเห็น คือความเห็นที่ผิดจากคลองธรรม เช่น สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ อกิริยทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นว่าหาเหตุมิได้ นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มี เป็นต้น หรือความเห็นทั้งหลายที่ขัดต่อสัมมาทิฏฐิ จัดเป็นทิฏฐิโยคะทั้งหมด

4. อวิชชาโยคะ

อวิชชาโยคะ โยคะคืออวิชชา ได้แก่ กิเลสคือความไม่รู้สภาวะต่าง ๆ ตามความเป็นจริง หรือรู้แบบผิด ๆ เข้าใจแบบผิด ๆ เช่น ความเข้าใจว่าสรรพสิ่งเป็นของเที่ยงแท้แน่นอน เข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีตัวตนอยู่จริง แล้วเกิดความหลงผิด หลงยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น