ททมาโน ปิโย โหติ “ผู้ให้ ย่อมเป็นที่รัก”

ททมาโน ปิโย โหติ.

[คำอ่าน : ทะ-ทะ-มา-โน, ปิ-โย, โห-ติ]

“ผู้ให้ ย่อมเป็นที่รัก”

(องฺ.ปญฺจก. 22/44)

ผู้ให้ คือผู้ที่มีจิตเสียสละ ยอมสละให้ปันสิ่งของของตนเองแก่ผู้อื่นด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ โอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้เพื่อช่วยเหลือคนอื่นในยามที่เขาขัดสนบ้าง ให้เพื่อบูชาคุณของผู้ที่ควรบูชาบ้าง ให้เพื่อสร้างบุญกุศลพอกพูนบารมีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปบ้าง

ไม่ว่าจะให้ด้วยเหตุผลใด การให้นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง เพราะต้องต่อสู้กับความตระหนี่ถี่เหนียวที่ติดอยู่กับจิตของเรามานาน การสละให้ปันสิ่งของของตนแก่ผู้อื่น เป็นสิ่งที่ประเสริฐและทำได้ยาก เพราะบุคคลไม่ใช่ว่ามั่งมีร่ำรวยแล้วจะสามารถให้ได้ แต่ต้องมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ด้วย จึงจะสามารถให้ได้

การให้นั้นท่านจำแนกเป็น 2 ประเภท คือ อามิสทาน คือการให้วัตถุสิ่งของอย่างหนึ่ง และธรรมทาน คือการให้ธรรมะ อย่างหนึ่ง ผู้ที่มีวัตถุสิ่งของจำนวนมากหรือเหลือเฟือ อาจให้วัตถุสิ่งของเพื่อเป็นการสงเคราะห์ผู้อื่นได้ ผู้ที่มีธรรมะ มีความรู้ มีปัญญามาก อาจให้ธรรมะ ให้คำแนะนำแก่ผู้อื่นเพื่อเป็นการชี้ทางสว่าง หรือเป็นการช่วยชี้ทางแก้ปัญหา ชี้ทางพ้นทุกข์ เป็นต้น

แต่ไม่ว่าจะให้อามิสหรือให้ธรรมะก็ตาม ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของผู้รับเสมอ เพราะการให้นั้นคือการสงเคราะห์กัน บุคคลผู้มีปกติให้ ย่อมเป็นที่รักของผู้ได้รับ และได้รับมิตรภาพจากผู้รับ ผู้ให้ย่อมผูกไมตรี สร้างมิตรภาพได้ด้วยอาการอย่างนี้ การให้ จึงเป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญ และผู้ให้ ยิ่งเป็นที่น่าสรรเสริญมากยิ่งขึ้นไปอีก