เตสํ วูปสโม สุโข “ความสงบระงับแห่งสังขารเหล่านั้น เป็นสุข”

เตสํ วูปสโม สุโข.

[คำอ่าน : เต-สัง, วู-ปะ-สะ-โม, สุ-โข]

“ความสงบระงับแห่งสังขารเหล่านั้น เป็นสุข”

(สํ.ส. 15/8, ขุ.ชา.เอก. 27/33)

สังขาร แปลว่า สภาพอันปัจจัยปรุงแต่ง มี 2 ประเภท คือ

  1. อุปาทินนกสังขาร สังขารที่มีใจครอง คือร่างกายของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งปวง
  2. อนุปาทินนกสังขาร สังขารที่ไม่มีใจครอง เช่น ต้นไม้ บ้านเรือน เป็นต้น

คำว่า สังขาร ในที่นี้ หมายเอา อุปาทินนกสังขาร คืออัตภาพร่างกายของเรานี้ ทันทีที่เราเกิดขึ้นมา เราก็มีสังขารร่างกายนี้แล้ว ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เรามีสังขาร เพราะเราเกิด นั่นเอง และที่เราต้องทนทุกข์อยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะสังขารนี่เอง

คำว่า “ความสงบระงับแห่งสังขาร” หมายถึง การที่ไม่ต้องมีสังขารนี้อีกต่อไปแล้ว นั่นก็คือ การที่ไม่ต้องเกิด

แต่การที่จะไม่ต้องเกิดอีกนั้น เป็นเรื่องที่ยากนักยากหนา ตราบใดที่เรายังมีเชื้อแห่งการเกิดคือตัณหาอยู่ เราต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อีกไม่รู้จบสิ้น

มีหนทางเดียวที่จะสงบระงับส้งขารได้ นั่นก็คือ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ดำเนินตามทางอริยมรรคมีองค์ 8 ประการ ซึ่งจะเป็นทางไปสู่พระนิพพาน นั่นแหละ เราจึงจะถึงความสงบระงับแห่งสังขาร อันเป็นเอกันตบรมสุข