สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี “ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะทำให้เกิดสุข”

สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี

[คำอ่าน : สุ-ขา, สัง-คัด-สะ, สา-มัก-คี]

“ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะทำให้เกิดสุข”

(ขุ.ธ. 25/41, ขุ.อิติ. 25/238, องฺ.ทสก. 24/80)

สามัคคี แปลว่า ความพร้อมเพรียง หมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของหมู่คณะ คือของกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มก้อนเป็นจำนวนมาก

คุณธรรมข้อนี้ถือเป็นคุณธรรมที่สำคัญมากสำหรับบุคคลทั้งหลายผู้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ เพราะกิจกรรมบางอย่าง ไม่สามารถทำให้สำเร็จลุล่วงได้โดยบุคคลแค่เพียงคนเดียว ต้องอาศัยความร่วมมือของคนหมู่มากช่วยกันจึงจะสำเร็จได้

ถ้าคนในกลุ่มเดียวกันหรือสังคมเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสังคมขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ตาม ขาดความสามัคคี คือแตกคอกันเสียแล้ว การอยู่ร่วมกันของคนเหล่านั้นย่อมไม่ก่อความสุข มีแต่จะทะเลาะเบาะแว้งกัน ชิงดีชิงเด่น หรือทำร้ายกันเลยก็เป็นได้

แต่หากคนในสังคมนั้นมีน้ำจิตน้ำใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน งานเล็กงานใหญ่ก็ช่วยเหลือกัน ช่วยกันทำ ช่วยกันสร้าง ช่วยกันดูแลรักษา แบ่งปันน้ำใจไมตรีให้แก่กันและกัน ถ้าเป็นดังนี้ สังคมนั้น ๆ ย่อมจะมีแต่ความสุขความเจริญ อันเป็นผลมาจากความสามัคคีของหมู่คณะนั่นเอง