ชยํ เวรํ ปสวติ “ผู้ชนะย่อมก่อเวร”

ชยํ เวรํ ปสวติ.

[คำอ่าน : ชะ-ยัง, เว-รัง, ปะ-สะ-วะ-ติ]

“ผู้ชนะย่อมก่อเวร”

(สํ.ส. 15/122, ขุ.ธ. 25/42)

เวร คือ การอาฆาตกัน การจองล้างจองผลาญกัน เมื่อมีการแข่งขันกันเกิดขึ้น หรือมีการชิงดีชิงเด่นชิงชัยกันเกิดขึ้น ย่อมมีผู้แพ้ และแน่นอนว่า ย่อมต้องมีผู้ชนะด้วยเช่นกัน

ผู้ที่ชนะ ย่อมได้ชื่อว่า ก่อเวรให้ตนเอง เพราะจะต้องโดนจองเวรจากผู้ที่แพ้ เพราะผู้แพ้ย่อมต้องการเอาคืน ต้องการล้างแค้น ต้องการที่จะแย่งชิงชัยชนะกลับคืนมา

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทั้งสองฝ่ายก็ต้องคอยราวีกันอยู่ตลอด ไม่รู้จักจบสิ้น ต้องแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันอยู่ตลอดเวลา หาความสุขมิได้

แต่เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพิจารณาเห็นข้อเสียของการจองเวรกันแล้วเลิกล้มความคิดที่จะแก่งแย่งชิงดีกัน เมื่อนั้นเวรจึงจะสงบลง

เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนให้เราใช้ชีวิตร่วมกันด้วยความเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ไม่แก่งแย่งชิงดีกัน จะได้ไม่ต้องมาจองเวรจองกรรม จองล้างจองผลาญกันไม่รู้จบสิ้น