
นนฺทิสมฺพนฺธโน โลโก…….วิตกฺกสฺส วิจารณํ
ตณฺหาย วิปฺปหาเนน….สพฺพํ ฉินฺทติ พนฺธนํ.
[คำอ่าน]
นัน-ทิ-สำ-พัน-ทะ-โน, โล-โก……..….วิ-ตัก-กัด-สะ, วิ-จา-ระ-นัง
ตัน-หา-ยะ, วิบ-ปะ-หา-เน-นะ….สับ-พัง, ฉิน-ทะ-ติ, พัน-ทะ-นัง
[คำแปล]
“โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูก มีวิตกเป็นเครื่องเที่ยวไป เพราะละตัณหาเสียได้ จึงชื่อว่าตัดเครื่องผูกได้ทั้งหมด.”
(พุทฺธ) สํ.ส. 15/55.
คำว่า “โลก” ในที่นี้ หมายถึงสัตว์โลกทั้งปวง ทั้งมนุษย์และสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลาย รวมเรียกว่า สัตว์โลก หรือ ชาวโลก
สัตว์โลกทั้งหลาย มีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูก คือมีจิตยึดติดในกามคุณห้า คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนาน่าพอใจ มีใจหลงใหลยินดีในกามคุณเหล่านั้น พยายามเสาะแสวงหากามคุณที่ตนปรารถนามาไว้ครอบครอง
เมื่อได้มาครอบครองสมใจก็รู้สึกเป็นสุข เมื่อเสียไปหรือไม่ได้มาครอบครองก็รู้สึกเป็นทุกข์ และพยายามดิ้นรนเพื่อให้ได้สิ่งเหล่านั้นมาบำรุงบำเรอตนอย่างไม่หยุดหย่อน
คำว่า วิตก หมายถึง ความตรึกหรือความนึกคิด
สัตว์โลกมีความวิตกเป็นเครื่องเที่ยวไป ก็คือ วิ่งพร่านไปตามความคิด ทั้งความคิดที่ดีและไม่ดี ความคิดที่ดีก็นำพาให้ทำกรรมที่ดี ความคิดที่ไม่ดีก็นำพาให้ทำกรรมที่ไม่ดี
เมื่อสัตว์โลกมีความเพลิดเพลินอยู่ในกามคุณห้า และมีความนึกคิดเป็นเครื่องทำให้พร่านไปอยู่อย่างนี้ ย่อมมีความนึกคิดในอันที่จะแสวงหากามคุณห้าอันตนปรารถนามาบำรุงบำเรอตนอยู่ไม่หยุด เมื่อแสวงหาในทางที่ถูกที่ควรไม่ได้ ก็แสวงหามาในทางที่ไม่ถูกไม่ควร ผิดศีลธรรม ผิดกฎหมายบ้านเมือง เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมเป็นการก่อกรรมทำเข็ญโดยไม่รู้ตัว ก่อทุกข์ทั้งในภพนี้ และเป็นกรรมติดตัวไปในสัมปรายภพด้วย
สิ่งเหล่านี้เอง เป็นดุจเชือกที่ผูกสรรพสัตว์ไว้ในสังสารวัฏ ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่จบสิ้น ต้องได้รับความทุกข์ในวัฏสงสารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อใดที่ละตัณหาได้หมดสิ้นแล้วด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จึงจะสามารถทำลายเครื่องผูกอันยิ่งใหญ่นี้ได้ และไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด ไม่ต้องประสบกับทุกข์ในสังสารวัฏอีก.
สารบัญ พุทธศาสนสุภาษิต
- อัตตวรรค หมวดตน
- อัปปมาทวรรค หมวดความไม่ประมาท
- กัมมวรรค หมวดกรรม
- กิเลสวรรค หมวดกิเลส
- โกธวรรค หมวดความโกรธ
- ขันติวรรค หมวดความอดทน
- จิตตวรรค หมวดจิต
- ชยวรรค หมวดความชนะ
- ทานวรรค หมวดทาน
- ทุกขวรรค หมวดทุกข์
- ธัมมวรรค หมวดธรรม
- ปกิณกวรรค หมวดเบ็ดเตล็ด
- ปัญญาวรรค หมวดปัญญา
- ปมาทวรรค หมวดความประมาท
- ปาปวรรค หมวดบาป
- ปุคคลวรรค หมวดบุคคล
- ปุญญวรรค หมวดบุญ
- มัจจุวรรค หมวดความตาย
- มิตตวรรค หมวดมิตร
- ยาจนาวรรค หมวดการขอ
- ราชวรรค หมวดพระราชา
- วาจาวรรค หมวดวาจา
- วิริยวรรค หมวดความเพียร
- เวรวรรค หมวดเวร
- สัจจวรรค หมวดความสัตย์
- สติวรรค หมวดสติ
- สัทธาวรรค หมวดศรัทธา
- สันตุฏฐิวรรค หมวดสันโดษ
- สมณวรรค หมวดสมณะ
- สามัคคีวรรค หมวดสามัคคี
- สีลวรรค หมวดศีล
- สุขวรรค หมวดความสุข
- เสวนาวรรค หมวดการคบหา