
ตณฺหาย อุฑฺฑิโต โลโก……….ชราย ปริวาริโต
มจฺจุนา ปิหิโต โลโก…..ทุกฺเข โลโก ปติฏฺฐิโต.
[คำอ่าน]
ตัน-หา-ยะ, อุด-ทิ-โต, โล-โก……ชะ-รา-ยะ, ปะ-ริ-วา-ริ-โต
มัด-จุ-นา, ปิ-หิ-โต, โล-โก….ทุก-เข, โล-โก, ปะ-ติด-ถิ-โต
[คำแปล]
“โลกถูกตัณหาก่อขึ้น ถูกชราล้อมไว้ ถูกมฤตยูปิดไว้ จึงตั้งอยู่ในทุกข์.”
(พุทฺธ) สํ.ส. 15/55.
คำว่า “โลก” ในที่นี้ หมายถึงสัตว์โลกทั้งปวง ทั้งมนุษย์และสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลาย รวมเรียกว่า สัตว์โลก หรือ ชาวโลก
สัตว์โลกทั้งหลายทั้งปวง ถูกตัณหาก่อขึ้น หมายความว่า ตัณหา คือความทะยานอยากทั้ง 3 ประการ คือ กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม ภวตัณหา ความทะยานอยากในภพ และวิภวตัณหา ความทะยานอยากในวิภพ เป็นต้นเหตุให้สัตว์โลกทั้งปวงต้องเวียนว่ายตายเกิด ถ้าไม่มีตัณหา สัตว์โลกก็ไม่ต้องเกิด
สัตว์โลกทั้งหลายทั้งปวง ถูกชราล้อมไว้ คือ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วย่อมแก่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ เริ่มต้นจากเป็นเด็กอ่อน จากนั้นก็แก่ขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน ไม่มีใครเลยที่ไม่แก่ ไม่มีใครเลยที่หลีกหนีความแก่ไปได้
ถึงแม้ว่าเราสมมติเอาว่าในช่วงชีวิตของเรามีอยู่ 3 วัย คือ วัยเด็ก วัยหนุ่มสาว และวัยชรา แต่ความจริงแล้ว เราแก่ขึ้นทุกวัน เพียงแต่เนื้อหนังในวัยเด็กและวัยหนุ่มสาวยังไม่เหี่ยวย่น ยังแลดูสดสวยงดงามอยู่ เราจึงเข้าใจผิดไปว่า เรายังไม่แก่ แต่ความจริงแล้ว เราแก่ขึ้นทุกวัน
โลกถูกมฤตยูปิดไว้ หมายความว่า สัตว์โลกทั้งหลายเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ย่อมบ่ายหน้าสู่ความตาย คือมีความตายเป็นเบื้องหน้า ไม่มีใครแม้แต่คนเดียวที่สามารถหลีกหนีความตายได้พ้น ทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย
เมื่อสัตว์โลกเกิดขึ้นมาเพราะมีตัณหาเป็นเชื้อทำให้เกิด ถูกความแก่ล้อมไว้ และถูกความตายปิดไว้อยู่อย่างนี้ จึงต้องประสบกับความทุกข์อยู่ร่ำไป หลีกหนีความทุกข์ไม่พ้น
หนทางเดียวที่จะหลีกหนีความชราและความตาย พร้อมทั้งกำจัดความทุกข์เสียได้ นั่นก็คือ ต้องหมั่นปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ทำลายตัณหาอันเป็นเชื้อยางแห่งการเกิดเสียให้ได้
เมื่อสิ้นตัณหาอันเป็นเชื้อยางแห่งการเกิด ก็ไม่ต้องเกิด เมื่อไม่ต้องเกิด ก็ไม่ต้องประสบกับชราและมรณะ และไม่ต้องประสบกับทุกข์อันเกิดจากการเกิด แก่ เจ็บ และตาย อีกต่อไป.
สารบัญ พุทธศาสนสุภาษิต
- อัตตวรรค หมวดตน
- อัปปมาทวรรค หมวดความไม่ประมาท
- กัมมวรรค หมวดกรรม
- กิเลสวรรค หมวดกิเลส
- โกธวรรค หมวดความโกรธ
- ขันติวรรค หมวดความอดทน
- จิตตวรรค หมวดจิต
- ชยวรรค หมวดความชนะ
- ทานวรรค หมวดทาน
- ทุกขวรรค หมวดทุกข์
- ธัมมวรรค หมวดธรรม
- ปกิณกวรรค หมวดเบ็ดเตล็ด
- ปัญญาวรรค หมวดปัญญา
- ปมาทวรรค หมวดความประมาท
- ปาปวรรค หมวดบาป
- ปุคคลวรรค หมวดบุคคล
- ปุญญวรรค หมวดบุญ
- มัจจุวรรค หมวดความตาย
- มิตตวรรค หมวดมิตร
- ยาจนาวรรค หมวดการขอ
- ราชวรรค หมวดพระราชา
- วาจาวรรค หมวดวาจา
- วิริยวรรค หมวดความเพียร
- เวรวรรค หมวดเวร
- สัจจวรรค หมวดความสัตย์
- สติวรรค หมวดสติ
- สัทธาวรรค หมวดศรัทธา
- สันตุฏฐิวรรค หมวดสันโดษ
- สมณวรรค หมวดสมณะ
- สามัคคีวรรค หมวดสามัคคี
- สีลวรรค หมวดศีล
- สุขวรรค หมวดความสุข
- เสวนาวรรค หมวดการคบหา