นตฺถิ ปาปํ อกุพฺพโต “บาปย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำ”

นตฺถิ ปาปํ อกุพฺพโต.

[คำอ่าน : นัด-ถิ, ปา-ปัง, อะ-กุบ-พะ-โต]

“บาปย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำ”

(ขุ.ธ. 25/31)

บาป คือ สภาพที่ทำให้จิตใจตกต่ำ ได้แก่ การทำความชั่วทางกาย วาจา ใจ หรือที่เรียกว่า ทุจริต นั่นเอง บาปนั้นเมื่อทำแล้วย่อมสร้างแต่ความเดือดร้อนฉิบหายให้แก่ผู้ทำ

ในทางพระพุทธศาสนาสอนว่า ผู้ใดทำกรรมเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว

หากเราไม่ได้ทำบาป บาปย่อมไม่มีแก่เราเป็นแน่นอน เพราะบาปย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ได้กระทำบาป ดังนั้น จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่เราทั้งหลายจะงดเว้นกรรมบาปเสีย แล้วมาสั่งสมอบรมแต่กรรมที่เป็นบุญเท่านั้น

การหมั่นสร้างบุญกุศลอยู่บ่อย ๆ จนติดเป็นนิสัย เป็นกิจวัตรประจำวัน จะทำให้เรามีอุปนิสัยน้อมไปในทางที่เป็นบุญโดยอัตโนมัติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความคิดในเรื่องที่เป็นอกุศล ความคิดที่จะทำบาปทั้งหลาย ย่อมลดลงเรื่อย ๆ และหมดไปในที่สุด เมื่อไม่มีความคิดที่จะทำบาป การทำบาปก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อไม่มีการทำบาป บาปก็ไม่เกิด เมื่อบาปไม่เกิด ผลของบาปก็ย่อมไม่มีแก่เราผู้ซึ่งไม่ได้กระทำบาปใด ๆ เลยนั่นเอง