หมู่สัตว์นี้ประกอบด้วยมานะ มีมานะเป็นเครื่องร้อยรัด ถูกมานะมัดไว้ ฯลฯ

มานุเปตา อยํ ปชา     มานคนฺถา มานวินิพฺพทฺธา
ทิฏฺฐีสุ พฺยารมฺภกตา     สํสารํ นาติวตฺตติ.

[คำอ่าน]

มา-นุ-เป-ตา, อะ-ยัง, ปะ-ชา…..มา-นะ-คัน-ถา, มา-นะ-วิ-นิบ-พัด-ทา
ทิด-ถี-สุ, พะ-ยา-รำ-พะ-กะ-ตา…..สัง-สา-รัง, นา-ติ-วัด-ตะ-ติ

[คำแปล]

“หมู่สัตว์นี้ประกอบด้วยมานะ มีมานะเป็นเครื่องร้อยรัด ถูกมานะมัดไว้ ทำความแข่งดีเพราะทิฏฐิ ย่อมล่วงสงสารไปไม่ได้.”

(พุทฺธ) ขุ.อุ. 25/193.

มานะ คือ ความถือตัว ความสำคัญตัว เช่น สำคัญตนว่าดีกว่าเขาบ้าง สำคัญตนว่าเสมอเขาบ้าง สำคัญตนว่าเลวกว่าเขาบ้าง ล้วนเป็นลักษณะของมานะทั้งสิ้น

มานะนี้เป็นกิเลสที่ทำให้คนเกิดความถือตัว เย่อหยิ่งจองหอง ชอบยื้อแย่งแข่งขันกับคนอื่น ชอบชิงดีชิงเด่น ชอบเอาชนะ ยกตนข่มท่าน เป็นต้น ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ดี ก่อทุกข์ก่อโทษ

เรามักจะใช้คำว่ามานะร่วมกับคำว่าทิฏฐิ คำที่ได้ยินบ่อย ๆ คือ ทิฏฐิมานะ เพราะทิฏฐิกับมานะนั้นมีความเกี่ยวข้องกัน คนที่มีทิฏฐิคือความเห็นไม่ตรงกับคนอื่น มักจะมีมานะ คิดว่าความคิดเห็นของตนเองถูกต้องกว่าดีกว่าความคิดเห็นของคนอื่น เป็นต้น เช่นนี้ก็ทำให้เกิดความสำคัญตนขึ้นมาเช่นกัน

ในแง่ของการปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ คนที่มีทิฏฐิมานะมาก ๆ จะเย่อหยิ่งอวดดี ไม่ฟังคนอื่น หัวดื้อ ไม่เชื่อฟังคำแนะนำจากครูบาอาจารย์หรือเพื่อนสพรหมจารี จึงเป็นไปได้ยากที่จะปฏิบัติธรรมให้สำเร็จผลได้ ดังนั้น ผู้ที่มากไปด้วยทิฏฐิมานะ จึงไม่สามารถหลุดพ้นจากวัฏสงสารได้

หากผู้ใดมีความต้องการที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสารนี้ให้ได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องละทิฏฐิมานะนี้เสียให้ได้ก่อน ทำความเห็นให้ตรง ละความสำคัญตน เข้าหาผู้รู้ ขอคำแนะนำ และปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม จึงจะสามารถหลุดพ้นจากวัฏสงสารได้.