
มูฬฺโห อตฺถํ น ชานาติ…มูฬฺโห ธมฺมํ น ปสฺสติ
อนฺธตมํ ตทา โหติ………..…ยํ โมโห สหเต นรํ.
[คำอ่าน]
มูน-โห, อัด-ถัง, นะ, ชา-นา-ติ…มูน-โห, ทำ-มัง, นะ, ปัด-สะ-ติ
อัน-ทะ-ตะ-มัง, ตะ-ทา, โห-ติ….ยัง, โม-โห, สะ-หะ-เต, นะ-รัง
[คำแปล]
“ผู้หลงย่อมไม่รู้อรรถ ผู้หลงย่อมไม่เห็นธรรม ความหลงครอบงำคนใดเมื่อใด ความมืดมิดย่อมมีเมื่อนั้น.”
(พุทฺธ) ขุ.อิติ. 25/296, ขุ.มหา. 29/18.
ความหลง ได้แก่ โมหะ เป็นกิเลสที่เป็นมูลเหตุให้เกิดกิเลสตัวอื่น เช่น ความโกรธเมื่อจะเกิดก็เกิดเพราะโมหะ ความโลภเมื่อจะเกิดก็เกิดด้วยอำนาจโมหะ
โมหะ เป็นตัวปิดบังปัญญาให้มืดบอด ผู้ถูกโมหะครอบงำ ย่อมมีปัญญามืดมิด มองไม่เห็นอรรถ ไม่เห็นธรรม ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้จักความดับทุกข์ และไม่รู้วิธีที่จะถึงความดับทุกข์
การที่สรรพสัตว์ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารทุกวันนี้ ก็เพราะโมหะนี่แหละเป็นตัวการ เพราะโมหะทำให้หลงผิด ทำให้ไม่รู้อริยสัจสี่ ทำให้ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งลวงโลกทั้งหลายซึ่งไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอน หลงคิดไปว่าสิ่งที่ได้รับในโลกนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสุขที่แท้จริง แล้วก็หลงยึดติดอยู่ ทำให้ไม่มีความคิดที่จะหลีกหนีออกจากวัฏสงสารอันยาวนานเหลือเกินนี้
สิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อโมหะก็คือปัญญา ซึ่งหมายเอาปัญญาที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ตัวปัญญาตัวนี้จะเป็นเครื่องกำจัดโมหะให้ลดลงทีละน้อยแล้วก็หมดไปในที่สุด เมื่อโมหะลดลงตามลำดับ บุคคลก็จะรู้ชัดสรรพสิ่งตามความเป็นจริงมากขึ้นทีละน้อย เหมือนแสงสว่างที่ค่อย ๆ สว่างขึ้นและกำจัดความมืดไปทีละน้อย
เมื่อโมหะถูกกำจัดหมดสิ้น ปัญญาสว่างไสว บุคคลย่อมสามารถรู้อรรถรู้ธรรมได้แจ่มแจ้ง และจะสามารถทำลายทุกข์ในวัฏสงสารนี้ได้ในที่สุด
ดังนั้น เราทั้งหลายอย่านิ่งนอนใจอยู่เลย จงรีบเร่งปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อทำลายรากฐานแห่งทุกข์ใหญ่ในวัฏสงสารคือตัวโมหะนี้ให้หมดไปโดยเร็วเถิด.
สารบัญ พุทธศาสนสุภาษิต
- อัตตวรรค หมวดตน
- อัปปมาทวรรค หมวดความไม่ประมาท
- กัมมวรรค หมวดกรรม
- กิเลสวรรค หมวดกิเลส
- โกธวรรค หมวดความโกรธ
- ขันติวรรค หมวดความอดทน
- จิตตวรรค หมวดจิต
- ชยวรรค หมวดความชนะ
- ทานวรรค หมวดทาน
- ทุกขวรรค หมวดทุกข์
- ธัมมวรรค หมวดธรรม
- ปกิณกวรรค หมวดเบ็ดเตล็ด
- ปัญญาวรรค หมวดปัญญา
- ปมาทวรรค หมวดความประมาท
- ปาปวรรค หมวดบาป
- ปุคคลวรรค หมวดบุคคล
- ปุญญวรรค หมวดบุญ
- มัจจุวรรค หมวดความตาย
- มิตตวรรค หมวดมิตร
- ยาจนาวรรค หมวดการขอ
- ราชวรรค หมวดพระราชา
- วาจาวรรค หมวดวาจา
- วิริยวรรค หมวดความเพียร
- เวรวรรค หมวดเวร
- สัจจวรรค หมวดความสัตย์
- สติวรรค หมวดสติ
- สัทธาวรรค หมวดศรัทธา
- สันตุฏฐิวรรค หมวดสันโดษ
- สมณวรรค หมวดสมณะ
- สามัคคีวรรค หมวดสามัคคี
- สีลวรรค หมวดศีล
- สุขวรรค หมวดความสุข
- เสวนาวรรค หมวดการคบหา