ผู้ใดไม่กังวลว่า นี้ของเรา นี้ของผู้อื่น ผู้นั้น เมื่อไม่ถือว่าเป็นของเรา ฯลฯ

ยสฺส นตฺถิ อิทํ เมติ     ปเรสํ วาปิ กิญฺจนํ
มมตฺตํ โส อสํวินฺทํ     นตฺถิ เมติ น โสจติ.

[คำอ่าน]

ยัด-สะ, นัด-ถิ, อิ-ทัง, เม-ติ…..ปะ-เร-สัง, วา-ปิ, กิน-จะ-นัง
มะ-มัด-ตัง, โส, อะ-สัง-วิน-ทัง…..นัด-ถิ, เม-ติ, นะ, โส-จะ-ติ

[คำแปล]

“ผู้ใดไม่กังวลว่า นี้ของเรา นี้ของผู้อื่น ผู้นั้น เมื่อไม่ถือว่าเป็นของเรา จึงไม่เศร้าโศกว่า ของเราไม่มี ดังนี้.”

(พุทฺธ) ขุ.สุ. 25/519, ขุ.มหา. 29/534.

สิ่งของทั้งหลายบนโลกใบนี้ ไม่มีสิ่งใดเลยที่เป็นของเราอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้ ที่เราแสวงหามาได้ เราสามารถครอบครองไว้ได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ไม่สามารถยึดถือเป็นของของเราได้ตลอดไป เมื่อถึงคราวตาย ก็ต้องทิ้งทุกสิ่งไว้บนโลก เราต้องจากโลกนี้ไปโดยไม่สามารถนำทรัพย์สินใด ๆ ติดตัวไปได้เลยแม้แต่ชิ้นเดียว

หรือแม้แต่สังขารร่างกายที่เราถือว่าเป็นของเรานี้ ก็ไม่ใช่ของเราอย่างแท้จริง เราไม่สามารถควบคุมให้ร่างกายเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามใจปรารถนา เราไม่อยากป่วยมันก็ป่วย เราไม่อยากแก่มันก็แก่ นั่นคือสิ่งที่ชี้ชัดว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา เพราะถ้ามันเป็นของเราจริง เราต้องควบคุมได้ ต้องบังคับบัญชาได้ตามใจปรารถนา แต่นี่เปล่าเลย เราควบคุมร่างกายของเราไม่ได้เลย และสุดท้าย เราก็ต้องละสังขารร่างกายนี้ไป

แต่ด้วยความที่มนุษย์เรามีอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นเป็นเหมือนเพื่อนตาย คือมันเกิดพร้อมกับเราและก็ตายไปกับเรา เราไปเกิดในภพใหม่ชาติใหม่มันยังตามเราไปในภพนั้น ๆ อีก และคอยบงการเราให้ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย
ตัวอุปาทานนี่แหละที่ทำให้เราหลงผิดคิดว่าสิ่งทั้งปวงที่เราได้รับมานั้นเป็นของเรา เมื่อยึดติดยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้ก็เกิดความหวงแหน เมื่อยังไม่ได้มาก็อยากได้มาครอบครอง เมื่อได้มาแล้วก็ไม่อยากเสียไป เมื่อมีก็มีความสุข เมื่อไม่มีก็โศกเศร้าเสียใจ เป็นต้น

เห็นได้ชัดว่า ความยึดมั่นถือมั่นนี้ทำให้เราหลงผิดเป็นอันมาก และทำให้เราต้องประสบกับความทุกข์ทางใจเป็นอันมากเลยทีเดียว

เมื่อใดที่เราสามารถกำจัดอุปาทานนี้ออกจากใจได้แล้ว หมดความยึดมั่นถือมั่นว่าเราว่าเขา ว่าของเราของเขาแล้ว เมื่อนั้น ความทุกข์ความโศกเศร้าอันเกิดจากอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นก็จะหมดไป.