ผู้ใดข้ามพ้นกามในโลก และเครื่องข้องที่ข้ามได้ยากในโลก ฯลฯ

โยธ กาเม อจฺจุตฺตริ     สงฺคํ โลเก ทุรจฺจยํ
น โส โสจติ นาชฺเฌติ     ฉินฺนโสโต อพนฺธโน.

[คำอ่าน]

โย-ทะ, กา-เม, อัด-จุด-ตะ-ริ…..สัง-คัง, โล-เก, ทุ-รัด-จะ-ยัง
นะ, โส, โส-จะ-ติ, นาด-เช-ติ..…ฉิน-นะ-โส-โต, อะ-พัน-ทะ-โน

[คำแปล]

“ผู้ใดข้ามพ้นกามในโลก และเครื่องข้องที่ข้ามได้ยากในโลก ผู้นั้นตัดกระแสตัณหาได้แล้ว ไม่มีเครื่องผูก ชื่อว่าไม่เศร้าโศก ไม่ยินดี.”

(พุทฺธ) ขุ.สุ. 25/519, ขุ.มหา. 29/527.

กาม แปลว่า ความใคร่ มี 2 อย่าง คือ กิเลสกาม และวัตถุกาม

กิเลสกาม คือ กิเลสที่ทำให้ใคร่ หรือกิเลสเป็นเหตุใคร่ ได้แก่ รติ ความยินดี ราคะ ความกำหนัด นันทิ ความเพลิดเพลิน และตัณหา ความทะยานอยาก เป็นต้น

วัตถุกาม คือ วัตถุอันน่าใคร่ หมายเอากามคุณ 5 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าใคร่น่าพอใจ

กามทั้ง 2 อย่างนี้ ทำให้บุคคลเกิดความอยาก เกิดความปรารถนาที่จะได้ครอบครอง หวงแหน เห็นแก่ตัว เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น บุคคลเห็นเครื่องประดับสวย ๆ แล้วอยากได้มาครอบครอง ย่อมต้องดิ้นรนหาวิธีให้ได้เครื่องประดับนั้นมาเป็นของของตนเองให้ได้ เช่น หาเงินเพื่อไปซื้อมา เป็นต้น เมื่อได้มาแล้วก็มีความสุข นอกจากนั้นก็ย่อมมีความหวงแหน ไม่อยากเสียไป ถ้าเสียไปเมื่อไหร่ใจก็เป็นทุกข์

หรือผู้ชายที่เห็นผู้หญิงสวย ๆ ถูกใจ หรือผู้หญิงที่เห็นผู้ชายหล่อ ๆ อยากได้มาเป็นแฟน ก็ไปจีบเขาเป็นแฟน เมื่อได้เป็นแฟนกันก็เป็นสุขใจ นอกจากนั้นความรู้สึกอื่นที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ความหึงหวง ไม่อยากให้ใครมายุ่งกับแฟนตัวเอง เมื่อใครมายุ่งเกี่ยวกับแฟนตัวเองก็เกิดความโกรธ ทะเลาะกัน เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากกามทั้งสิ้น กามนี้และที่เป็นเครื่องผูกที่ทำให้สัตว์โลกทั้งหลายข้องอยู่ในโลก คือไม่สามารถหลุดพ้นจากวัฏสงสารได้

หากผู้ใดผู้หนึ่งรู้ความจริงข้อนี้แล้ว พยายามปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพื่อทำลายกามอันเป็นเครื่องผูกเครื่องข้องนี้ได้ ตัดกระแสแห่งตัณหาอันเป็นเชื้อยางที่ทำให้สัตว์ต้องเวียนว่ายตายเกิดนี้ได้

ผู้นั้นย่อมหลุดพ้นจากบ่วงแห่งกามและตัณหา หลุดพ้นจากความเศร้าโศกอันเกิดจากกามและตัณหานั้นได้ และไม่ยินดีในการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป.