ใจสั่งมา

ผู้ให้ข้าว ชื่อว่าให้กำลัง ผู้ให้ผ้า ชื่อว่าให้ผิวพรรณ ฯลฯ

อนฺนโท พลโท โหติ     วตฺถโท โหติ วณฺณโท
ยานโท สุขโท โหติ     ทีปโท โหติ จกฺขุโท.

[คำอ่าน]

อัน-นะ-โท, พะ-ละ-โท, โห-ติ.….วัด-ถะ-โท, โห-ติ, วัน-นะ-โท
ยา-นะ-โท, สุ-ขะ-โท, โห-ติ…..ที-ปะ-โท, โห-ติ, จัก-ขุ-โท

[คำแปล]

“ผู้ให้ข้าว ชื่อว่าให้กำลัง ผู้ให้ผ้า ชื่อว่าให้ผิวพรรณ ผู้ให้ยานพาหนะ ชื่อว่าให้ความสุข ผู้ให้ประทีปโคมไฟ ชื่อว่าให้จักษุ.”

(พุทฺธ) สํ.ส. 15/44.

คำว่า ข้าว หมายเอาอาหารทุกอย่างที่คนทั้งหลายใช้บริโภคเลี้ยงชีวิต คนและสัตว์ทั้งหลายบนโลกใบนี้สามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการบริโภคอาหาร หากขาดอาหารเสียแล้ว ย่อมไม่มีพละกำลังในการประกอบกิจต่าง ๆ และไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ อาหารจึงเปรียบเสมือนกำลังของคนและสัตว์ทั้งปวง ดังนั้น คนที่ให้ข้าวหรือให้อาหาร จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้กำลัง

เสื้อผ้าอาภรณ์ เป็นสิ่งที่ใช้นุ่งห่มเพื่อป้องกันเหลือบยุงลมแดด ป้องกันความหนาวความร้อน ปกปิดอวัยวะที่ก่อให้เกิดความละอาย นอกจากนี้ เสื้อผ้าอาภรณ์ยังใช้ประดับตกแต่งให้เกิดความสวยงามอีกด้วย การได้ใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่ดูดีสวยงาม ย่อมทำให้บุคคลดูดีขึ้นมาได้ เสื้อผ้าอาภรณ์จึงเปรียบเสมือนผิวพรรณเพราะเป็นเครื่องประดับตกแต่งผิวพรรณ บุคคลผู้ให้เสื้อผ้าอาภรณ์ จึงได้ชื่อว่าให้ผิวพรรณ

ยานพาหนะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ การเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วทำให้เกิดความสุขและสะดวกสบาย ดังนั้น ยานพาหนะจึงเปรียบเสมือนความสุขอย่างหนึ่งของบุคคล ผู้ที่ให้ยานพาหนะจึงได้ชื่อว่าให้ความสุข

ดวงตาทำให้บุคคลมองเห็น แต่ถ้าขาดแสงสว่างเสียแล้ว แม้มีดวงตาก็ไม่สามารถมองเห็นได้ ดังนั้น แสงสว่างจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากในการประกอบกิจต่าง ๆ เพราะแสงสว่างทำให้บุคคลสามารถมองเห็นได้ เมื่อมองเห็นได้ชัดเจนก็สามารถประกอบกิจต่าง ๆ ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี ประทีปโคมไฟเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกให้สามารถมองเห็นได้ในที่มืด ดังนั้น ประทีปโคมไฟจึงเปรียบเสมือนดวงตาอีกดวงของคน บุคคลผู้ให้ประทีปโคมไฟจึงได้ชื่อว่า ผู้ให้ดวงตา.